Ford Ranger Raptor เป็นรถกระบะสมรรถนะสูงตระกูล Ranger เจ้าของฉายา ‘เกิดมาแกร่ง’ ด้วยกระจังหน้าประดับตัวอักษร F-O-R-D ที่เป็นเอกลักษณ์ ไปจนถึงเส้นสายด้านข้างตัวถังที่เน้นความแข็งแรง และการออกแบบที่คำนึงถึงหลักอากาศพลศาสตร์เพื่อลดแรงเสียดทาน เพิ่มสมรรถนะ และประสิทธิภาพของรถกระบะรุ่นพิเศษที่ได้รับความนิยมในไทย รวมถึงต่างประเทศ 

...

ตัวถังภายนอก เครื่องยนต์ 3.0 ลิตร V6 เทอร์โบคู่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับ Ford Ranger Raptor เจเนอเรชันใหม่ Ford ยังให้ความสำคัญกับรายละเอียดอีกมากที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของรถรุ่นใหม่” มร.เดวิด ไกรซ์ หัวหน้าวิศวกรแพลตฟอร์ม Ranger และ Everest กล่าว สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั้นก็คือการออกแบบตัวถัง Ford Ranger Rapto ผ่านการทดสอบระบบอากาศพลศาสตร์ ทั้งแบบเสมือนจริงและการทดสอบทางกายภาพราว 700 ชั่วโมง โดยอาศัยหลักพลศาสตร์การไหลเชิงคำนวณ ซึ่งสามารถคำนวณและรายงานผลจากการปรับการออกแบบได้ทันที

นักออกแบบและวิศวกรยังใช้ต้นแบบที่หลายคนนึกไม่ถึงมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบการไหลเวียนของอากาศบริเวณรอบล้อ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแรงเสียดทานที่สำคัญของรถ และแม้ว่า Mustang กับ Raptor จะเป็นรถยนต์ที่มีความแตกต่างกันมาก แต่ทีมพัฒนา Ford Ranger ในประเทศออสเตรเลีย ได้นำเทคนิคที่ทีมพัฒนารถ Ford Mustang ในทวีปอเมริกา คิดค้นขึ้นมาปรับใช้เพื่อจัดการการไหลเวียนของอากาศบริเวณรอบล้อและซุ้มล้อของรถ Raptor ได้อย่างดี

...

...

ความสำคัญของหลักอากาศพลศาสตร์ในการออกแบบรถกระบะ

ในอดีต การออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนารถกระบะเลย แต่เมื่อลูกค้ามีความต้องการใช้งานรถกระบะแบบอเนกประสงค์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อทำงาน การใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน นักออกแบบจึงต้องพัฒนารถให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทั้งด้านรายละเอียดความประณีตและการประหยัดน้ำมัน ดร.นีล ลูวิงตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและหัวหน้าฝ่ายอากาศพลศาสตร์ของ Ford ออสเตรเลีย กล่าวว่า การปรับดีไซน์พื้นฐานของรถกระบะให้เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นักออกแบบต้องเอาชนะอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ด้านหน้าขนาดใหญ่ ช่องซุ้มล้อ ท้ายห้องโดยสารแบบ 4 ประตูที่ตัดตรงในแนวตั้งเพื่อเชื่อมกับกระบะท้ายที่เปิดรับลม “การปรับงานออกแบบเพียงเล็กน้อย อาจช่วยพัฒนาประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ได้เป็นอย่างมาก” ดร.ลูวิงตัน กล่าวเสริม “สำหรับ Ford Ranger Raptor เน้นที่ส่วนสำคัญหลายอย่างทั้งการสร้างม่านอากาศกั้นบริเวณล้อหน้าและหลังเพื่อลดแรงเสียดทาน ปรับเสา C ใหม่เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเหนือกระบะท้าย และการออกแบบฝาครอบขอบกระบะและสปอยเลอร์บนฝาปิดกระบะท้ายให้เสริมกัน”

...

การจัดการระบบไหลเวียนอากาศบริเวณรอบซุ้มล้อและบันไดข้าง

ล้อรถยนต์คือแหล่งกำเนิดหลักของแรงต้าน หากใช้ผ้าจริงๆ มาทำม่านคลุมล้อเพื่อทำให้ลมไหลเวียนบริเวณรอบๆ ล้อนั้นได้ ก็คงดูตลก นักออกแบบและวิศวกรของ Ford Ranger Raptor ใช้แรงบันดาลใจเรื่องม่านอากาศจาก Ford Mustang มาพัฒนาต่อ โดยการออกแบบกันชนหน้าและไฟตัดหมอกเพื่อชาร์จลมที่ด้านหน้ารถและสร้างม่านอากาศที่บริเวณล้อหน้า ชุดกันชนหน้าและกรอบไฟตัดหมอกได้รับการออกแบบให้ดักกระแสลมผ่านเข้าทางร่องข้างไฟตัดหมอกไปยังล้อหน้าและไหลไปตามด้านข้างตัวถัง ดร.ลูวิงตัน บอกว่าการออกแบบนี้มีข้อดี 2 ประการ คือ ช่วยลดแรงต้านสูงที่บริเวณด้านหน้ารถ และยังใช้กระแสลมที่มีโมเมนตัมสูงเข้าไปลดทอนลมที่เกิดโดยธรรมชาติจากล้อหน้า “การจัดการการไหลของอากาศบริเวณรอบล้อสำคัญต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเน้นสมรรถนะ การขับขี่ในเมือง หรือประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ นอกจากการเพิ่มม่านอากาศที่ล้อหน้าแล้ว ยังพัฒนาสปอยเลอร์กันยางที่ส่วนหน้าของล้อหลังเพื่อลดแรงเสียดทานจากยางหลังอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความสี่ยงที่กระแสลมจะกระทบระบบช่วงล่างและบันไดเหยียบข้างกระบะท้าย

บันไดเหยียบข้างกระบะท้าย ช่วยให้ผู้ใช้งานขึ้นลงจากด้านข้างกระบะได้ง่าย โดยไม่ต้องเหยียบล้อหลังเพื่อขึ้นกระบะอีกต่อไป ทีมนักออกแบบมั่นใจว่า บันไดเหยียบข้างกระบะท้ายแทบไม่ส่งผลกระทบต่อแรงเสียดทานตามหลักอากาศพลศาสตร์ บันไดเหยียบข้างกระบะท้ายอยู่ก่อนล้อหลังเพียงเล็กน้อย จึงไม่มีผลกระทบต่อการต้านทานอากาศมากนัก อุปกรณ์นี้จึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งลูกค้าและตัวรถ คือลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการใช้งานรถ และตัวรถก็ไม่ได้รับผลกระทบด้านอากาศพลศาสตร์

ปรับรูปทรงกระบะท้ายใหม่

ทีมนักออกแบบได้ปรับรูปทรงของเสา C ฝาครอบขอบกระบะท้าย และสปอยเลอร์บนฝาปิดกระบะท้าย เพื่อให้การไหลเวียนของอากาศเหนือกระบะและรอบกระบะท้ายดีขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่ากระบะท้ายได้รับการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์อย่างดีที่สุด การไหลเวียนของอากาศเหนือกระบะท้ายส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์โดยรวมของรถ รูปทรงของรถจึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดปริมาณอากาศไหลเวียนในที่ว่างเหนือกระบะ จากการปรับแต่งรูปทรงหลังคาและเสา C อย่างประณีตเพื่อให้สอดรับกับรูปทรงของฝาครอบขอบกระบะท้าย และสปอยเลอร์บนฝาปิดกระบะท้าย จึงควบคุมปริมาณอากาศไหลเวียน และลดการต้านทานตามหลักอากาศพลศาสตร์ลงได้

การออกแบบส่วนหน้าของรถให้มีขนาดใหญ่ และดุดัน มีซุ้มล้อที่กว้าง แต่แรงต้านอากาศโดยรวมของ Ford Ranger Raptor ลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนนและลดเสียงรบกวนในห้องโดยสารแล้ว ยังช่วยให้รถกินน้ำมันน้อยลง เนื่องจากแรงต้านอากาศจากการวิ่งบนทางหลวงที่ลดลงทุกๆ 3 เปอร์เซ็นต์ เทียบได้กับการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงลง 1 เปอร์เซ็นต์

Ford Ranger Raptor เจเนอเรชันใหม่ มาพร้อมตัวเลือกเครื่องยนต์เบนซิน 3.0 ลิตร EcoBoost V6 เทอร์โบคู่ กำลัง 397 แรงม้า แรงบิด 583 นิวตันเมตร และตัวเลือก เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 210 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด โหมดการขับขี่ที่เลือกได้ 7 แบบ รวมถึงโหมดบาฮา รถกระบะตระกูล Ranger ที่ทรงพลังที่สุดที่เคยมีมา

นอกเหนือจากระบบเชื่อมต่อการสื่อสารที่ล้ำสมัยแล้ว Ford Ranger Raptor รุ่นเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ยังมีระบบควบคุมเฟืองท้ายแบบ Locking Differentials ทั้งด้านหน้าและหลัง พร้อมโช้คอัพแบบ Live Valve จาก FOX และเทคโนโลยีช่วยในการขับอื่นๆ รวมถึงระบบ Active Valve Exhaust ที่ปรับระดับเสียงท่อ 4 โหมดได้อีกด้วย.