ประสบการณ์ของการสื่อสารระหว่างคนกับรถยนต์มีมานานแล้ว ยุคแห่ง AI ทำให้รถยนต์ฉลาดและเรียนรู้พฤติกรรมของคนขับเพื่อปรับความสบายให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคนที่มีบุคลิกแตกต่างกัน ลองนึกภาพเวลาที่ขับรถไปบ้านเพื่อน ในวันที่อากาศร้อนจัด และคุณพยายามทำให้ห้องโดยสารเย็นลง ด้วยการเอื้อมมือไปที่คอนโซลแล้วหมุน หรือกดปุ่มเปิดแอร์อย่างเคยชิน แต่สำหรับวิศวกรแล้ว ขั้นตอนง่ายๆ นี้ต้องใช้ความใส่ใจในรายละเอียดเป็นอย่างมาก ขณะที่ทีมนักออกแบบและวิศวกร Nissan ร่วมกันพัฒนา ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า Nissan Ariya ครอสโอเวอร์พลังถ่านที่ใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อน นอกจากการวิเคราะห์หลักการยศาสตร์ (Ergonomics) เมื่อต้องเอื้อมมือไปกดปุ่มต่างๆ ยังตั้งใจที่จะออกแบบหน้าตาและสัมผัสใหม่ของปุ่ม สำหรับการปรับและควบคุมการทำงานต่างๆ ที่ผู้ขับคุ้นเคย มีการคำนวณพื้นที่ห้องโดยสาร ผิวสัมผัส และการจัดวางตำแหน่งใหม่ทั้งหมด เพื่อทำให้ Nissan Ariya เป็นรถที่ง่ายต่อการใช้งาน 

...

ภายในห้องโดยสารของ Ariya มีการเน้นความโปร่งโล่งตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ ดีไซน์ที่เปิดโล่ง กว้างขวาง Nissan แจ้งว่า มันมาพร้อมโทนสีภายในที่ให้ความรู้สึกเงียบสงบ สำหรับการออกแบบที่ต่างออกไปจากยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วไปก็คือ ดีไซน์ของคอนโซลหน้ารถที่ไร้ปุ่มกดแบบเดิม แผงคอนโซลลายไม้ที่ออกแบบมาอย่างมีสไตล์ ดูมีชีวิตชีวาเมื่อสตาร์ตเครื่องและปุ่มควบคุมที่อยู่ใต้คอนโซลก็จะเรืองแสงขึ้นมาบนพื้นผิวคอนโซล แผงควบคุมแบบสัมผัสถูกออกแบบมาให้สวยงามและใช้งานง่าย

...

ปุ่มควบคุมที่ตอบสนองการสัมผัสผ่านปลายนิ้วใช้หลักการเดียวกับระบบสัมผัสบนสมาร์ทโฟน เมื่อต้องปรับอากาศหรือเปลี่ยนโหมดการขับขี่ใน Nissan Ariya มีการตั้งค่าให้สามารถเลือกรูปไอคอนที่คุ้นเคย เมื่อสัมผัสไปที่ปุ่ม ก็จะตอบสนองด้วยการสั่นที่นิ้วมือเบาๆ (คล้ายการทำงานของระบบจอภาพสั่งงานด้วยการสัมผัสใน Audi Q7 Q8 A7 และ A8L) เมื่อสัมผัสเบาๆ นอกจากการตอบสนองด้วยการสั่นที่นิ้วแล้ว ยังมีเสียง (Haptic) ช่วยให้ผู้ขับไม่เสียสมาธิขณะควบคุมทิศทางของรถ การที่ทีมออกแบบของ Nissan เลือกการควบคุมแบบสัมผัสมาใช้กับ Ariya นั้น สะท้อนถึงแนวคิดการออกแบบสไตล์ Timeless Japanese Futurism

...

ฮิเดกิ ทาโกะ นักออกแบบอาวุโส (Hideki Tago, Senior Designer Nissan) อธิบายว่า มีการออกแบบแผงควบคุมให้เรียบง่าย ด้วยการผสมปุ่มสัมผัส เข้ากับคอนโซลนลายไม้ โดยไม่ให้กระทบต่อการใช้งาน และคงความสวยงามเอาไว้ การใช้ลวดลายลายไม้บนแผงพลาสติก จากกรรมวิธีกระบวนการพิมพ์ด้วยน้ำ ให้ความรู้สึกเหมือนไม้จริงไม่ว่าจะเป็นสี ผิวสัมผัสและลวดลายบนไม้เทียม ทำให้ไอคอนโปร่งแสงดูมีชีวิตชีวาขึ้นเมื่อเรืองแสงขึ้นมา และเมื่อทีมออกแบบสรุปเป้าหมายที่ต้องการได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป เป็นหน้าที่ของทีมวิศวกร ที่ต้องทำให้แนวคิดการออกแบบรถยนต์ที่เชื่อมโยงกับนิยายวิทยาศาสตร์ หรือหนังไซไฟ ให้กลายเป็นจริงขึ้นมา ขั้นตอนนี้ ยังรวมไปถึงการจัดวางเทคโนโลยีอย่างละเอียดที่อยู่ภายใน

...

ปุ่มควบคุมแบบสัมผัสใน Ariya ปรากฎอยู่ในสองส่วนภายในตัวรถ ส่วนแรกคือแผงคอนโซลด้านหน้าและที่พักแขนตรงกลางแบบปรับได้ เป้าหมายไม่ใช่แค่นำเทคโนโลยีมาผสานกับการออกแบบห้องโดยสารเพื่อให้ผู้ใช้งานประทับใจ แต่ทำให้ได้เทคโนโลยีที่เป็นธรรมชาติและตอบสนองการใช้งานได้ดีสำหรับผู้ขับขี่ที่หลากหลาย หลังจากที่ทดลองอยู่นาน ทีมงานก็เลือกใช้ปุ่มไฟฟ้าสถิต ซึ่งไม่เพียงใหญ่กว่าปุ่มสัมผัสทั่วไป แต่ยังมีระยะห่างมากขึ้น เพื่อให้ความรู้สึกเสมือนจริงตามสัญชาติญาณแก่ผู้ใช้งาน ให้ความรู้สึก เด้งขึ้นมาจากแรงกดอากาศ ช่วยให้รู้สึกถึงการตอบสนอง เสมือนเสียงคลิกจากปุ่มแบบดั้งเดิม

จากนั้น ทั้งหมดก็เข้าสู่ขั้นตอนการปรับจูนการสั่นและเสียง การสั่นและเสียงเป็นของคู่กัน โทโมทากะ อิการาชิ วิศวกร Nissan ทำหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานกับจอแสดงผลภายในห้องโดยสารของ Ariya (Tomotaka Igarashi, engineer in charge of the Ariya’s interior HMI development) อธิบายว่า อาจดูไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ขั้นตอนนี้ท้าทายให้ทีมสามารถพัฒนาเสียงที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งอยากให้ถูกใจผู้ขับขี่และทำงานได้อย่างเหมาะสมที่สุด

การใส่ใจทุกรายละเอียดในรถยนต์ไฟฟ้า 100% ครอสโอเวอร์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเครื่องยนต์ไฟฟ้า ปล่อยเสียงออกมาน้อยมาก ทำให้ผู้ขับได้ยินเสียงที่ทีมสร้างขึ้นอย่างชัดเจน การพัฒนาปุ่มควบคุมแบบสัมผัสต้องผ่านการทดสอบหลากหลายรูปแบบเพื่อให้แน่ใจว่าสะดวกต่อการใช้งาน มีการทดสอบกับนิ้วมือและเล็บหลากหลายขนาด ใช้แรงกดและมุมที่แตกต่างกัน รวมถึงการใช้งานในขณะที่สวมถุงมือ ทั้งหมด เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวของอย่างการผสานการออกแบบและการใช้งานในกระบวนการพัฒนา Nissan Ariya ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อปรับการใช้งานในยานยนต์อเนกประสงค์พลังงานไฟฟ้า ให้มีควาทสมบูรณ์แบบและลงตัว คาดว่า Nissan Ariya น่าจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ประมาณต้นปีหน้า.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/