การสัมมนา การยกระดับการทำงานของคนไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทิศทางตลาดรถ EV ความต้องการของประชาชน และโซลูชันที่ค่ายรถยนต์เตรียมพร้อมรองรับการเติบโตของ EV ในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก โดยปี 2562 ประเทศไทยผลิตและส่งออกยานยนต์เป็นอันดับที่หนึ่งของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกจำนวน 1,300,561 ล้านบาท โดยประเทศที่มีกำลังการผลิตรถยนต์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และอินเดีย ซึ่งตลาดส่งออกหลักของไทย ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน เม็กซิโก ขณะที่ในกลุ่มรถปิกอัพ รถบัส และรถบรรทุก ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีความสามารถในการผลิตรถยนต์จำนวนมากถึง 2 ล้านคันต่อปี มีผู้ประกอบการจำนวน 13,920 ราย และมีการจ้างงานจำนวน 345,000 คน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการยานยนต์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและราคาที่ลดลง รวมทั้งทิศทางการพัฒนาที่มุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

...

รัฐบาลได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยที่สำคัญ เช่น มาตรการกระตุ้นตลาดในประเทศและต่างประเทศ มาตรการส่งเสริมเพื่อสร้างอุปทานและปรับตัวไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการเตรียมความพร้อมโครงสร้าง พื้นฐานอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ปริมาณขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบแบตเตอรี่ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ สถานีชาร์จไฟฟ้า ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2565 พบว่า ไทยมีสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวน 665 แห่ง มีจำนวนหัวจ่ายรวมทั้งสิ้น 2,224 หัวจ่าย แบ่งเป็นหัวจ่ายธรรมดา จำนวน 1,450 หัวจ่าย และหัวจ่ายชาร์จเร็วจำนวน 774 หัวจ่าย ทั้งนี้ ตลาดภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้น


ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่คงเหลือจากกระบวนการเผาไหม้ของยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และการปล่อยของเสียภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ที่มีประชากรและการจราจรหนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ สระบุรี และเชียงใหม่ เป็นต้น รวมทั้งการรณรงค์ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามกรอบข้อตกลงปารีส จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงเร่งรัดการขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ทั้งระบบ โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมุ่งเน้นการพัฒนายานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ประกอบด้วยยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง และได้ตั้งเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 จำนวน 440,000 คัน (ร้อยละ 50 ของยานยนต์ทั้งหมด) และเป้าหมายการผลิต จำนวน 725,000 คัน (ร้อยละ 30 ของยานยนต์ทั้งหมด)

...


• ปี 2566 ตัวเลขการเติบโตของรถ EV ก้าวกระโดด มียอดจดทะเบียนรวม 76,314 คัน เพิ่มขึ้น 684 % จากปี 2565 แสดงให้เห็นว่า คนไทยตื่นตัวพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แม้ส่วนสำคัญจะมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อชัดเจน เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกกว่า I.C.E

• ปี 2567 ประเมินว่ายอดขายรถไฟฟ้าจะโตขึ้นประมาณ 30% หรือประมาณ 100,000 คัน ตัวแปร นอกจากแบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามาทำตลาด เซ็กเมนต์ของรถมีให้เลือกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรถไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีราคาถูกลง ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงได้ง่าย

• งานมอเตอร์โชว์มีรถไฟฟ้า เปิดตัวใหม่ทั้งพร้อมขาย และเปิดเพื่อ Pre-Booking มากถึง 30 รุ่น ถ้ารวมรุ่นที่มีวางขายไปก่อนหน้ามากถึง 40-45 รุ่น เป็นการรวมรถไฟฟ้าไว้มากที่สุดในประเทศไทย

• วิธีการรองรับของค่ายรถ แตกต่างกันไปตามความพร้อม มีทั้งการเร่งขยายศูนย์บริการ พัฒนาความพร้อมด้านคลังอะไหล่ บางแห่งลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการขยายสถานี ชาร์จให้รองรับการใช้บริการมากขึ้น
• แต่ปัญหาสำคัญ คือ ความพร้อมเรื่องสถานีชาร์จไม่เพียงพอต่อการขยายตัวที่เกิดขึ้น ถึงแม้ผู้บริโภคจะมี Home Charging ที่บ้าน แต่การเดินทางไกลโดยเฉพาะช่วงเทศกาล เราก็ยังเห็นข่าวว่ามีปัญหาอยู่ จุดนี้คงต้องเป็นการหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาต่อไป

...

คำถาม : คนไทยจะอยู่รอดอย่างไรในสถานการณ์ที่ยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวในประเทศไทย
• ในฐานะที่ กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นภาคเอกชน เป็นผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมาโดยตลอด การจัดงานในแต่ละปีนอกจากจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นตลาดรถยนต์ เรายังมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ไปยังกลุ่มช่างฝีมือ ที่หมุนเวียนเข้ามาทำงานไม่น้อยกว่า 1,000 คน ในแต่ละปี

...

• งานบางกอก มอเตอร์โชว์ เป็นงานระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก OICA ทุกอย่างต้องมีมาตรฐาน และมาตรการความปลอดภัยขั้นสูง การก่อสร้างบูธ ช่างฝีมือของไทยได้การยอมรับจากวิศวกรต่างชาติ โดยเฉพาะจากแบรนด์ฝั่งยุโรป ว่าเป็นแรงงานคุณภาพสูง

• สิ่งที่ต้องการสื่อ คือ จุดแข็งของไทย นอกจากเรื่องภูมิประเทศ และความแข็งแกร่งที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน อีกจุดหนึ่ง คือ คุณภาพของแรงงานฝีมือเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง รถยนต์ที่ประกอบจากไทย ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพ จนส่งออกขายไปทั่วโลก

• การเข้ามาของรถไฟฟ้า สร้างการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยเกิดมาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จนส่งผลกระทบต่อการปรับตัวค่อนข้างมาก จึงอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างภาครัฐ เข้าไปดูแลช่วยเหลือ เข้าไปช่วยพัฒนาและยกระดับความรู้เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามา หรือแม้กระทั่งมาตรการบางอย่างเพื่อให้ประเทศไทยยังคงจุดแข็งและเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแรงงานและการประกอบรถยนต์ต่อไปในอนาคต

การเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภัณฑ์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมสนับสนุน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงอย่างมากจาก 30,000 ชิ้นเหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ท่อไอเสีย หม้อน้ำ ถังน้ำมันเชื้อเพลิง ฯ ซึ่งจากข้อมูลของสมาคม ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีจำนวนประมาณ 816 แห่ง จากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมด 2,500 แห่ง โดยบริษัท 816แห่งนี้ จ้างแรงงานอยู่จำนวน 326,400 คน คิดเป็นร้อยละ 47 ของแรงงานทั้งหมดที่ผลิตและประกอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมสนับสนุน ที่จะได้รับผลกระทบมีอีกจำนวน 183 แห่ง อย่างไรก็ดี สถานประกอบการขนาดใหญ่มักจะผลิตชิ้นส่วนในหลากหลายกลุ่มจึงสามารถปรับตัว และจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสถานประกอบการ SMEs ที่มักจะผลิตชิ้นส่วนเพียงกลุ่มเดียว นอกจากนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ส่งผลต่อแรงงานในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและสถานีบริการเติมน้ำมันอีกด้วย 

หากพิจารณาข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักรของสำนักงานสถิติแห่งชาติไตรมาส 3 ปี 2561 พบว่า ผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมยานยนต์มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 525,958 คน ในจำนวนนี้มีผู้มีงานทำในภาคการผลิตตลับลูกปืน เกียร์และภาคการผลิตเครื่องยนต์สำหรับยานยนต์ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่จะได้รับผลกระทบเนื่องจากชิ้นส่วนเหล่านี้จะไม่ถูกใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 14,917 คน และ 2,194 คน ตามลำดับ รวมจำนวน 17,111 คน ซึ่งแรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่

อาชีพช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ช่างเหล็ก ช่างเครื่อง ช่างไฟฟ้าและผู้คัดคุณภาพ รวมจำนวน 2,513 คน และอาชีพผู้ควบคุมเครื่องจักรโรงงานและเครื่องจักรและทำงานในอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ แบ่งเป็น ผู้ควบคุมเครื่องจักรโรงงานแปรรูปโลหะ ตกแต่ง ชุบ และเคลือบโลหะ ผู้ประกอบเครื่องจักรกล และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบอื่นๆรวมจำนวน 8,940 คน โดยแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 39 ปี (ร้อยละ 80) จบการศึกษาระดับ ปวช.-ปวส. (ร้อยละ 46) และมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท (ร้อยละ 70)

การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีผลกระทบด้านบวกต่อตลาดแรงงานด้วย กล่าวคือจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น โดยการผลิตชิ้นส่วนประเภทใหม่ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ วัสดุน้ำหนักเบา และสถานีอัดประจุไฟฟ้าฯ ผลสุทธิจึงไม่ชัดเจนว่าจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของตำแหน่งงาน อุตสาหกรรมใหม่ๆ มีแนวโน้มใช้แรงงานเข้มข้นน้อยลงและมีทักษะสูงขึ้น ซึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันไม่สามารถปรับเปลี่ยนทักษะได้ในทันทีต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาทักษะฝีมือ อีกทั้งแรงงานบางส่วนประสบปัญหาไม่สามารถปรับตัวได้โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป แม้จะได้รับการฝึกอบรมแล้วก็ตาม ดังนั้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทางลบต่อการจ้างงาน โดยผลกระทบจะเกิดขึ้นก่อนในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อแรงงานในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ หลังจากนั้น จึงจะกระทบการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ เนื่องจากตลาดต่างประเทศ มีกฎระเบียบด้านการขนส่งที่เข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ งานใหม่ที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นงานที่ไม่มั่นคง และสวัสดิการน้อยลง เช่น สัญญาการจ้างงานระยะสั้น ค่ารักษาพยาบาลน้อยลง เป็นต้น

แม้ผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ชัดเจนในปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิต (Process) ได้เห็น ผลกระทบที่ชัดเจนอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต ส่งผลให้แรงงานบางส่วนถูกทดแทนโดยเฉพาะแรงงานระดับปฏิบัติการ แรงงานต้องปรับทักษะให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ได้โดยสถานประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ได้มีการปรับลดจำนวนพนักงานลงด้วยการไม่ รับคนงานระดับปฏิบัติการเพิ่มเติมทดแทนแรงงานที่เกษียณอายุไป การเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวหรือซับคอนแทรค (Sub-Contract) โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดหรือโครงการสมัครใจลาออก โครงการป่วยรักษาตัว โครงการอาชีพทางเลือก การปรับลดการทำงานล่วงเวลาลง การปรับลดวันทำงานลง บางบริษัท ประกาศปิดกิจการ บางบริษัทย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตนเอง หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าประเทศไทย โดยผลกระทบต่อแรงงานสามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. แรงงานซับคอนแทรค หรือแรงงานสัญญาจ้าง เป็นแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างก่อนแรงงานประจำ กลุ่มนี้จึงควรเร่งรัดจัดหางานใหม่ และพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น

2. แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นแรงงานที่มีอายุมาก (ตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป) และการศึกษาน้อย จึงมีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะหรือเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ๆ หรือเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งสถานประกอบการโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ อาจใช้วิธีให้เงินชดเชยภายใต้โครงการเกษียณอายุก่อกำหนด หรืออาจโยกย้ายให้ไปทำงานในสายงานอื่น

3. แรงงานที่สามารถปรับตัวได้ กลุ่มนี้อยู่ในวัยทำงานอายุไม่เกิน 45 ปี ควรได้รับการฝึกอบรมฝีมือใหม่ หรือยกระดับให้สูงขึ้น ตลอดจนให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มทักษะการประเมินความเสี่ยงและวางแผนรับมือกับความเสี่ยง ทั้งด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือได้อย่างเหมาะสม

4. แรงงานใหม่ ต้องได้รับการศึกษาที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวโน้มที่บริษัทต่างๆ จ้างแรงงานระดับปฏิบัติการ (จบ ม.3 หรือต่ำกว่า) ลดลง และจ้างช่างเทคนิคและวิศวกรมากขึ้น

จากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า มีการตั้งข้อสังเกตและมีข้อเสนอแนะต่อกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะต่อนายจ้าง สนับสนุนให้มีการจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีร่วมกับสหภาพแรงงาน ทั้งการยกระดับฝีมือแรงงาน และการสร้างทักษะใหม่รวมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณ การอนุญาตให้แรงงานใช้เวลาทำงานในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และเสนอแนะให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จำเป็นต้องพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนมอเตอร์และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ใช้ในยานยนต์อนาคต โดยหาความรู้เพิ่มเติมและทำงานร่วมกับภาครัฐ

2. ข้อเสนอแนะต่อสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานต่างๆ จัดทำศูนย์ข้อมูลเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้จากงานวิจัยให้แก่ผู้ใช้แรงงาน มีการจัดทำแผนการทำงานและตั้งคณะทำงานทำหน้าที่รับผิดชอบเพื่อนำข้อมูลความคืบหน้ามารายงานต่อที่ประชุมใหญ่ทุกเดือน การปรึกษาหารือกับนายจ้างในการจัดทำโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานแก่สมาชิกทั้งการยกระดับฝีมือด้านเทคโนโลยีและการสร้างทักษะใหม่ โดยอาจจัดทำโครงการนำร่องในสถานประกอบการ ใช้เป็นต้นแบบเผยแพร่ขยายผลต่อไป การจัดเวทีปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเป็นระยะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนกับสหภาพแรงงานต่างประเทศ

3. ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์และประเมิน
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากเทคโนโลยีและปัญหาโลกร้อน และให้ข้อเสนอแนะ
เชิงนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน (นายจ้าง แรงงาน ภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม) การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษทำงานเชิงรุกแบบมืออาชีพ ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานและฝึกทักษะใหม่ให้แก่แรงงาน ตลอดจนจัดระบบการเลิกจ้างงานและกระจายงานสู่ภาคส่วนใหม่ๆ เสนอให้กระทรวงแรงงานพัฒนาระบบคุ้มครองแรงงาน นอกระบบ และแรงงานชั่วคราวเนื่องจากแรงงาน

2 กลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันการคุ้มครองยังไม่เพียงพอ และการสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อผลิตแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานภายใต้เศรษฐกิจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก.