เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ต่างตระหนักถึงสภาวะภูมิอากาศของโลกที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้าย หากเรายังคงปล่อยมลพิษโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ท้ายสุด...เราจะอยู่อาศัยบนโลกใบนี้ได้อย่างยากลำบาก การหาพลังงานใหม่ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลมาทดแทน กลายเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และเทคโนโลยีสีเขียวอื่นๆ ถูกนำมาใช้ปั่นไฟฟ้าเพื่อชาร์จและขับเคลื่อนยานพาหนะพลังงานสะอาดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะมีราคาถูกลง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ

รถยนต์ไฟฟ้าได้รับการคาดหมายมานานแล้วว่าจะเป็นไปตามวิถีเดียวกันนี้ เมื่อมันได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่ว ยานยนต์ EV ก็จะมีราคาถูกลง แต่สิ่งที่เราคิดกลับไม่เป็นแบบนั้น จากความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาของแบตเตอรี่จะไม่มีวันถูกลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ที่เกิดอุบัติเหตุแล้วส่งผลกระทบต่อแบตเตอรี่แพ็ก ทำให้ต้องเปลี่ยนชุดแบตเตอรี่ใหม่หมดนั้น ราคาที่จะต้องจ่ายนั้นแพงจนสะดุ้ง รถยนต์ BYD ราคา 1.2 ล้านบาท มีราคาแบตเตอรี่ใหม่สูงถึง 565,750 บาท ถึง 656,000 บาท (แล้วแต่รุ่น) ราคาที่สูงเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ของแบตเตอรี่แบบใบมีด ความต้องการที่ไม่เพียงพอต่อการผลิต และความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับคนที่กำลังจะเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในไปเป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ก็ควรจะคิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ นี่ยังไม่นับแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์หรูหราอย่าง BMW Mercedes-Benz Porsche Audi และอีกหลายค่ายที่เน้นขายรถหรู มักจะมีราคาของแบตฯ ลูกหนึ่งทะลุ 1-3 ล้านบาท เฉลี่ย เกือบ 40-50% ของราคารถทั้งคัน
...


เป็นเวลาเกือบทศวรรษที่เกิดเรื่องเพ้อฝันขึ้นในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ นักวิเคราะห์รถยนต์ไฟฟ้าได้คาดการณ์จุดเปลี่ยนมหัศจรรย์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือ “ความเท่าเทียมกันของราคา” คนเหล่านั้นคิดว่าเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าได้รับควมนิยมมากๆ ราคาของมันจะต่ำลง และถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม หลังจากนั้นเมื่อราคาแบตเตอรี่ลดลง ในที่สุดยานยนต์ EV จะมีราคาต่ำกว่ารถยนต์สันดาปภายใน นักวิเคราะห์คาดการณ์มานานแล้วว่า ราคาของรถยนต์สันดาปจะเท่ากับรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อแบตเตอรี่มีราคาถูกลงจากการผลิตในปริมาณสูง


หลายปีที่ผ่านมา ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความสนใจในรถยนต์ EV ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น และบริษัทรถยนต์หลายค่ายได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ เพื่อเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาปภายในมากขึ้น ในช่วงสองสัปดาห์หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนมีนาคม 2565 ตามมาด้วยตัวเลขราคาเชื้อเพลิงที่สูงต่อเนื่อง การค้นหารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ทางออนไลน์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากความคิดที่ถูกกรอกหูมาตลอดว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตลอดอายุการใช้งาน รถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนในการ "เติมพลังงาน" น้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และด้วยชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยกว่า จึงมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยกว่าด้วย แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ราคาของชุดแบตเตอรี่ที่แพงมาก
...

หลังจากทศวรรษที่ตกต่ำ ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าพุ่งขึ้น 7% ในปีนี้ Bloomberg NEF รายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาที่ดีดตัวสูงขึ้นของแบตเตอรี่ คุกคามอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า EV หลายคนคิดว่าในอนาคตอันใกล้พวกมันจะมีราคาที่ย่อมเยามากขึ้น การแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุนแรงขึ้น เพื่อค้นหาวิธีที่ถูกกว่าในการใช้พลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้ผลิตรถยนต์กำลังเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความไม่แน่นอนหรือไม่ เป็นความไม่แน่นอนที่นำพาลูกค้าที่เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปร่วมอยู่ในวังวนแห่งราคาอันแสนแพงของชุดแบตเตอรี่ด้วยหรือไม่
ในปีนี้ วัสดุแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนสูง โดยเฉพาะ ลิเธียม นิกเกิล และโคบอลต์ ราคาต้นทุนของแร่ธาตุและการผลิต ส่งคลื่นกระแทกไปทั่วอุตสาหกรรมยานยนต์ ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ต่างแข่งขันกันเพื่อเพิ่มระยะทางของยานยนต์ไฟฟ้า EV ทำให้แร่ลิเธียมเพียงอย่างเดียวมีราคาพุ่งสูงขึ้น 500% ตามข้อมูลของ McKinsey

...
เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนส่งผลกระทบให้ต้องเปลี่ยนแบตฯ ใหม่ทั้งลูก ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ท่ีแพงมาก กลายเป็นสิ่งที่เกินกว่าการประเมินของคนที่เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีราคาที่ย่อมเยาและเหมาะกับคนทั่วไป รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่วิ่งไกลประมาณ 380 กิโลเมตร โดยเฉลี่ยมีราคาสูงถึง 850,000-1,200,000 บาท ต้นทุนของแบตเตอรี่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถกดราคาของยานยนต์ไฟฟ้าให้ต่ำลงได้ และราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคาของรถยนต์สันดาป จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย เราจะเห็นอุปสงค์ส่วนเกินเมื่อเทียบกับอุปทานที่เพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หมายความว่าต้นทุนของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น (จากราคาแบตฯ) ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความต้องการแบตเตอรี่ EV ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบตเตอรี่ใหม่ไม่มีวันที่จะมีราคาลดลงอีกต่อไป

ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบหลักที่จำเป็นในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ EV ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการคาดการณ์ไว้ เป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับวัตถุดิบหลัก เช่น ลิเธียม ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตเซลล์แบตเตอรี่หลายสิบล้านเซลล์ การขาดแคลนลิเธียมสำหรับผลิตแบตฯ ส่งผลให้แบตเตอรี่มีราคาสูงขึ้น และเราเองก็ยังไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่แบบอื่นได้ หากไม่ได้มีการขุดแร่ลิเธียม
...
การเพิ่มขึ้นของต้นทุนแบตเตอรี่ อาจทำให้ราคาของ EV ที่ขายในปี 2569 สูงขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นยอดขายรถ EV คาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วโลก ตามการคาดการณ์ล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษา LMC Automotive ผู้ผลิตรถยนต์เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น เนื่องจากผู้คนทั่วโลก (จำนวนมาก) ยอมรับแนวคิดของรถยนต์ไฟฟ้า

Jim Farley CEO ของ Ford เรียกร้องให้มีการขุดแร่ธาตุจำเป็นสำหรับผลิตแบตเตอรี่ให้มากขึ้น หลังการเปิดตัว F-150 Lightning กระบะพลังงานไฟฟ้าของ Ford “เราต้องการใบอนุญาตการขุดหาแร่ธาตุ เราต้องการสารตั้งต้นในการประมวลผล และใบอนุญาตผลิตตัวเก็บประจุไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา และเราต้องการให้ภาครัฐและภาคเอกชนทำงานร่วมกัน และนำมันมาที่นี่” Farley กล่าวกับ CNBC

Elon Musk ซีอีโอของ Tesla กล่าวในช่วงต้นปี 2020 เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เพิ่มการสกัดนิกเกิลให้มากกว่าเดิม และเพียงพอต่อความต้องการ “Tesla มองไปที่การขุดนิกเกิลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” Musk กล่าวระหว่างการประชุมทางโทรศัพท์ในเดือนกรกฎาคม 2020

ราคาของแร่ลิเธียมที่เพิ่มขึ้นเกือบ 900% ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สันนิษฐานได้ว่าลิเธียมที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด คาดว่าทั่วโลกจะมีโครงการทำเหมืองแร่ลิเธียมใหม่เกิดขึ้นอีกหลายสิบโครงการ ซึ่งสนับสนุนเงินทุนโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในทางกลับกันการลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในประเทศจีน เพื่อการผลิตแบตเตอรี่จำนวนมากสำหรับห่วงโซ่อุปทานของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีน
การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบและส่วนประกอบ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาแบตเตอรี่สูงขึ้นในปี 2565 ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของราคาโลหะแบตเตอรี่ ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่และผู้ผลิตรถยนต์หันมาใช้กลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น เพื่อป้องกันความผันผวน รวมถึงการลงทุนโดยตรงในการขุดหาแร่ลิเธียม จากข้อเท็จจริงที่ว่าเซลล์ลิเธียมไอออนราคาถูกที่สุดในโลกอยู่ในจีน ซึ่งราคาเฉลี่ยสำหรับ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง อยู่ที่ 127 ดอลลาร์ ถูกกว่าในสหรัฐอเมริกาและยุโรป 24 และ 33 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ จากปริมาณการผลิตที่มากขึ้น สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและชุดแบตเตอรี่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้จีนรุดหน้าอย่างรวดเร็วในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงความจริงที่ว่า จีน ยังมีลิเธียมสำรองในปริมาณมหาศาลอีกด้วย.