น้ำและไฟฟ้าขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเสมอ ด้วยเหตุนี้เราจึงถูกสอนให้แยกทั้งน้ำและไฟฟ้าออกจากกันอย่างสิ้นเชิงมาตั้งแต่จำความได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติถ้าคุณต้องขับรถไฟฟ้าในสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อกลับให้ถึงบ้านแล้วเกิดอาการเสียวสันหลัง แต่ก่อนอื่น สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจก็คือ รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมจัดการกับน้ำท่วมอย่างไร แล้วมาดูกันว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีความแตกต่างกันอย่างกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน

รถยนต์เครื่องยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลเมื่อขับฝ่าในน้ำท่วม
รถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินมีท่อไอดีอยู่ในห้องเครื่องยนต์และมีท่อระบายไอเสียที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อขับฝ่าน้ำท่วมขังในระดับสูง (สูงแค่ไหน เอาเป็นว่าเกิน 30 เซนติเมตร หรือสูงกว่าระดับฟุตปาท) น้ำสามารถกระเด็นเข้าสู่เครื่องยนต์ได้โดยเฉพาะท่อไอดีที่อาจเกิดความชื้นจนทำให้เครื่องยนต์ดับ ระบบไฟฟ้าในรถเปียกน้ำแล้วช็อตหรือลัดวงจร ทำให้กล่องควบคุมระบบไฟฟ้าหรือ ECU (Electronic Control Unit) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและการจุดระเบิดของเครื่องยนต์เสียหาย หรือเกิดจากน้ำเข้าระบบกรองอากาศ (ท่อไอดีของเครื่องยนต์) ทำให้น้ำเข้าห้องเผาไหม้เครื่องยนต์ ส่งผลให้หัวฉีดเชื้อเพลิงได้รับความเสียหาย

...

แล้วรถยนต์ไฟฟ้าต่างจากรถยนต์ทั่วไปอย่างไร?
รถยนต์ไฟฟ้าไม่มีเครื่องยนต์ที่ต้องการอากาศเข้าไปจุดระเบิดในห้องเผาไหม้  จึงช่วยลดความเสี่ยงของรถในกรณีที่เกิดอุทกภัยในทันทีและเราต้องลุยฝ่าน้ำท่วมกลับบ้าน ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดแบตเตอรี่ ตัวแปลง DC-AC และอื่นๆ มีส่วนประกอบที่เคลื่อนไหวน้อยกว่าและชิ้นส่วนโดยรวมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ มักจะเคลมว่า รถยนต์ไฟฟ้าสามารถขับลุยน้ำได้ที่ความสูงของน้ำท่วมขังไม่เกิน 30 เซนติเมตร และชุดแบตเตอรี่มีการปิดผลึกป้องกันความชื้นที่มีมาตรฐาน แต่ถ้าลุยแล้วพังขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ ความเสียวสยองเมื่อเห็นบิลค่าซ่อมอาจเกิดขึ้นได้ถ้าระบบทำงานผิดพลาดเพราะความชื้นที่สามารถแทรกซึมเข้าไปได้ 

รถยนต์ไฟฟ้าลุยน้ำแล้วไม่ดับขับปลอดภัยกว่าเมื่อน้ำท่วม จริงหรือ?
เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ และผู้ผลิตเข้าใจดีว่าจำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในด้านความคงทน รถยนต์ไฟฟ้าต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวด และปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของความปลอดภัยหลายอย่าง

รถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ส่วนใหญ่ ใช้วิธีใส่แบตเตอรี่และส่วนประกอบไฟฟ้าอื่นๆ ไว้ที่ส่วนล่าง ซึ่งมีแนวโน้มว่า ถ้าขับลุยฝ่าไปแล้ว แบตเตอรี่ มอเตอร์ขับเคลื่อน และอื่นๆ อาจต้องแช่น้ำท่วมขังและทำให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบต่างๆ ได้รับการปิดผนึกอย่างดี มีการหุ้มฉนวนกันน้ำได้ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการรั่วซึมของน้ำ ดังนั้น เมื่อขับรถยนต์ไฟฟ้าลุยน้ำท่วมขังบนถนน โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าช็อตหรือลัดวงจรจึงมีน้อย หรือแทบไม่เกิดขึ้น ในขั้นตอนของการพัฒนาก่อนผลิตออกขาย รถยนต์ไฟฟ้าต้องผ่านการทดสอบแรงดันสูงและน้ำลึกในสภาวะที่รุนแรง เพื่อให้แน่ใจว่ามีการป้องกันบริเวณจุดอ่อนของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างครอบคลุม Elon Musk เจ้าของ Tesla เคยแสดงให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้า Model S สามารถขับลุยน้ำท่วมขังได้ดีพอ และถึงแม้ว่าจะมีคำแนะนำว่าสามารถขับบนถนนที่มีน้ำท่วมขังได้ แต่ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องขับฝ่าน้ำท่วมสูงแล้วมีระดับน้ำที่ไม่น่าไว้ใจ ควรจอดรอให้น้ำลดหรือหาวิธีอื่นเดินทางกลับบ้านดีกว่านะครับ 

...

สรุป....
รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สามารถทนต่อระดับน้ำที่สูงได้ เนื่องจากไม่มีช่องรับอากาศหรือไอเสีย แต่ความเสี่ยงที่น้ำจะเข้าสู่ตัวรถและความเสียหายต่อห้องโดยสารและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ละเอียดอ่อนยังคงมีอยู่มากด้วยเช่นกัน ยิ่งระดับน้ำสูง แล้วรถยังคงวิ่งอยู่บนถนนที่น้ำท่วมสูงนานๆ ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้น หากระดับน้ำสูงมากพอ น้ำอาจแทรกซึมเข้าไปในชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ของรถ (ECU หรือคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานต่างๆ) ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก อาจทำให้รถยนต์ไฟฟ้าหยุดทำงาน.