ฝนหนักระดับ 100 มิลลิเมตรที่เทลงมาในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคมสร้างปัญหาใหญ่ให้กับคนใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพมหานคร ถนนที่กลายสภาพเป็นลำคลองสาธารณะก่อให้เกิดสภาพการจราจรขั้นจลาจลติดขัดไปทั่วทั้งเมือง โดยเฉพาะทางฝั่งเหนือของ กทม. ที่กำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า กว่าจะรู้ตัวว่าน้ำเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านที่กำลังขับฝ่าพายุฝนกลับบ้านก็ต้องผจญกับน้ำที่ไหลเข้ามาในรถจนทำให้พรมเปียกชื้น ซุปเปอร์คาร์ Ferrari รุ่น California ซึ่งเป็นรถสปอร์ตเปิดหลังคาราคา 20 กว่าล้าน ต้องมาสังเวยให้กับน้ำรอระบายแถบงามวงศ์วานชนิดหมดกันเป็นล้านไม่ว่าจะเป็นกล่อง ECU ควบคุมการทำงานของเกียร์หรือกล่องสมองเกียร์ กล่อง ECU ที่ควบคุมเครื่องยนต์ เซนเซอร์แคตตาไลติกคอนเวอร์เตอร์ของเครื่อง V8 ลูกสูบและกระบอกสูบ เปลี่ยนพรม ระบบ Electronic ควบคุมการปรับตั้งของเบาะทั้ง 2 ข้าง ระบบไอดีและท่อระบายไอเสีย ก้านลูกสูบฯ สำหรับท่านที่ใช้รถบ้านและมีน้ำเข้ามาในห้องโดยสารจนทำให้พรมเปียกชื้นแต่ไม่สาหัสถึงขนาดวิ่งไม่ได้สตาร์ตไม่ติด ลองมาดูวิธีเอาน้ำออกจากพรมกันดีกว่า
...
เส้นทางหนีน้ำแถบถนนวิภาวดีฯ และซอยเสนา
ถนนวิภาวดีฯ ออกพหลโยธินเส้นทางลัดสำหรับคนที่ติดแหงกอยู่ถนนวิภาวดีฯ ก่อนจะถึง 5 แยกลาดพร้าว รู้หรือไม่ว่า ก่อนถึงปั๊มแก๊สวิภาวดีซอย 3 (ก่อนถึงสำนักงานนสพ.ไทยรัฐ) มีซอยเล็กๆ สามารถทะลุไปบีทีเอส จตุจักรได้ โดยจากถนนใหญ่เลี้ยวซ้ายตรงไปจะเจอ 3 แยกให้เลี้ยวขวา (เลี้ยวซ้ายสามารถไปทางกรมขนส่งทางบกก็จะไปโผล่ถนนสุทธิสาร ทะลุแยกสะพานควายได้ด้วย) และวิ่งไปตามทาง ผ่านโค้งต้นไม้ใหญ่จะเจอ 3 แยกให้เลี้ยวขวาตรงไปสุดซอย จะเจอ 3 แยกให้เลี้ยวขวา (สถานีโทรทัศน์สีช่อง 7จะอยู่ขวามือ) ตรงไปตามทางก็จะมาโผล่ที่ถนนพหลโยธินใกล้ๆ สถานีบีทีเอสจตุจักร
ส่วนใครจะไปซอยเสนาขณะที่เกิดฝนตกหนักมีน้ำรอระบายให้ไปทางลัดโดยเข้าซอยลัดก่อนจะถึงซอยเสือใหญ่ ทะลุผ่านซอยรัชดาฯ 42 เยื้องๆกับโชว์รูมเบนซ์อมรรัชดา เชื่อมต่อซอยรัชดาฯ 44 ผ่านสถานดูแลคนชราออกไปทางหน้าโรงเรียนช่างฝีมือทหาร แล้วออกไปทางซอยพหลโยธิน 30 ที่เชื่อมต่อกับซอยอาลาดิน เพื่อจะไปโผล่ในซอยเสนานิคม 1 หรือซอยพหลโยธิน 32 หากมีฝนตกหนักชนิดไม่ลืมหูลืมตาระดับ 100 มิลลิเมตร แม้จะมีน้ำท่วมขังอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้มากเท่ากับบนถนนใหญ่ซึ่งซอยดังกล่าวรถเล็กพอจะอาศัยวิ่งหลบหลีกลัดเลาะน้ำรอระบายพอได้อยู่
ลุยแบบวัดดวง
จะรอดไม่รอดสุดท้ายก็ดับกลางน้ำ ส่วนท่านที่จอดใต้คอนโดฯ แล้วโดนจัดแบบจมทั้งห้องเครื่อง เมื่อน้ำแห้งอย่าใจร้อน พยายามติดเครื่องยนต์เนื่องจากน้ำที่เข้าไปอยู่ในเครื่องยนต์อาจจะทำให้ก้านสูบกับก้านกระทุ้งวาล์วเสียหายหากเป็นรถโบราณ ห้ามพ่วงไฟเพื่อติดเครื่องยนต์เพราะการพ่วงไฟเพื่อทำการสตาร์ตจะเป็นการเปิดโอกาสให้แอลเทอร์เนอเตอร์หรือไดชาร์จรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถช็อตหรือไหม้เสียหายได้ปลดฟิวส์ของระบบถุงลมนิรภัยเพื่อไม่ให้ทำงาน หากจมหนักจอดนานในที่น้ำสูงแล้วพบน้ำในที่เขี่ยบุหรี่ น้ำคงเข้าไปถึงระบบไฟฟ้าบนหน้าปัด เช่น มาตรวัดหรือสวิตช์ต่างๆ ได้ เกียร์อัตโนมัติกับทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ต้องได้รับการล้างเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นเกียร์ใหม่ รถขับเคลื่อนล้อหลังที่มีเฟืองท้ายก็ต้องทำการเปลี่ยนน้ำมันเฟืองท้ายใหม่ ทรานสเฟอร์ของรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อก็ต้องได้รับการตรวจสอบว่าปกติดีอยู่หรือเปล่า นับว่าเป็นเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจและเสียเงินเสียทองกันไม่ใช่น้อยๆ วันหลังจะลุยโหดๆ กลับบ้านท่ามกลางถนนหนทางที่กลายสภาพเป็นคูคลอง หรือจอดรถใต้คอนโดฯ ที่มีพื้นที่ต่ำราวกับห้องใต้ดินก็ต้องดูกันให้ดีๆ ไม่ควรขับลุยฝ่าน้ำสูงหรือจอดรถในพื้นที่ลุ่มต่ำ
...
...
...
จ้างคาร์แคร์
วิธีที่ง่ายที่สุดแต่เสียเงินประมาณ 1,000-3,000 บาท กับเสียเวลาอีกหนึ่งหรือสองวันคือการจ้างคาร์แคร์ให้ทำความสะอาดถอดเบาะออกมาแล้วตามด้วยการรื้อพรมปูพื้นออกมาซักทำความสะอาดแล้วผึ่งให้แห้งสนิทเพื่อขจัดกลิ่นอับรวมถึงเชื้อราที่ชื่นชอบความชื้นมากเป็นพิเศษ
ลุยทำเองไปเลย
บางท่านแนะนำให้จอดรถตากแดดแต่ถ้าโดนมาหนักหนาสาหัสชนิดเลี้ยงปลาในรถได้ ตากแดดเป็นเดือนกลิ่นอับก็ยังคงอยู่แถมมีเชื้อราระบาดในรถอีกด้วย ท่านที่โชคดีโดนมานิดเดียวแค่ชื้นๆ ก็เอากระดาษทิชชูมาซับพร้อมกับจอดตากแดดไว้เดี๋ยวก็แห้ง ส่วนท่านที่โดนมาเต็มๆจนทำให้ภายในมีสภาพคล้ายอ่างเลี้ยงปลา คุณต้องมีเครื่องไม้เครื่องพวกประแจและบล็อกเบอร์ต่างๆ ที่ใช้ถอดเบาะเพื่อรื้อเอาพรมออกมาซักทำความสะอาดทั้งหมด ต้องใจเย็นและมีความรู้ด้านช่างพอสมควร ค่อยๆ ถอดเบาะออกทีละตัวจนหมดแล้วรื้อเอาพรมปูพื้นที่ชุ่มโชกไปด้วยน้ำรอระบายออกมาซักด้วยแชมพู หากมีเครื่องล้างรถที่สามารถฉีดน้ำแรงๆ ได้ก็ถือเป็นการทำความสะอาดพรมไปในตัว ฉีดล้างทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยก็เอามาผึ่งแดดทิ้งไว้รอจนกว่าจะแห้ง แล้วประกอบกลับเข้าที่เดิม พรมปูพื้นส่วนใหญ่จะมีวัสดุป้องกันเสียงซับอยู่ข้างล่างใต้พรม รถยนต์บางรุ่นจะเป็นผ้าบุเอาไว้คล้ายกับผ้าห่ม ส่วนบางรุ่นใช้วัสดุพวกฟองน้ำรองใต้พรมไว้อีกชั้น ไม่ว่าจะเป็นเส้นใย ผ้าหรือฟองน้ำแห้งยากมาก ยังไงก็ต้องรื้อออกมาซักและตากให้แห้งสถานเดียวไม่งั้นเชื้อราอาจถามหาตามด้วยกลิ่นเหม็นอับจนออกอาการเน่าใน.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom