10 ความจริงที่คุณไม่รู้ของ ‘ผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืน’ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า ผู้หญิงก็คงจะดิ้นรน ขัดขืน และร้องเรียกให้คนช่วย แต่ความจริงของ ‘ผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืน’ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น...
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทั่วไป และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงกฎหมาย จากประเด็นที่ว่า “ผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืนมีปฏิกิริยาอย่างไร: ความจริงกับความเชื่อ”
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ ได้เผยแพร่สาระความรู้ผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Ronnakorn Bunmee (ทางทีมข่าวได้ติดต่อขออนุญาตผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ ก่อนเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งได้รับการอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว) โดยทีมข่าวได้แบ่งเนื้อหาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ ออกเป็น 10 ข้อ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและอ่านง่ายขึ้น โดยเนื้อหาใจความมีดังต่อไปนี้

...

1.เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ สอนวิชาสัมมนากฎหมายอาญา แล้วถามนักศึกษาว่า "พวกคุณคิดว่าผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืนเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร" นักศึกษาทั้งห้อง (11 คน ถามทีละคน) ซึ่งมีทั้งหญิงและชายตอบตรงกันว่าผู้หญิงก็คงจะดิ้นรน ขัดขืน และร้องเรียกให้คนช่วย คำตอบนี้ไม่แตกต่างกันกับคำตอบที่ถามในหลายๆ คลาสที่สอน และกับหลายๆ คนที่พูดคุย
2.เรามักจะเชื่อกันอย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่เราก็ไม่เคยถูกข่มขืน และถึงแม้ตามสถิติแล้วผู้หญิงทั่วโลกโดยเฉลี่ยทุก 1 ใน 5 คน จะเคยถูกข่มขืนหรือถูกพยายามข่มขืน แต่คนที่ผ่านประสบการณ์นี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ออกมาพูดให้เราฟัง
3.เราจึงเรียนรู้ประสบการณ์แบบนี้ด้วยจินตนาการ ผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งสร้างภาพให้เราเห็นว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจะดิ้นรนสุดกำลังและเรียกร้องให้คนมาช่วย เพื่อสร้างภาพเหยื่อให้น่าสงสารที่สุด

4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ คิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและควรต้องคุยกัน และตนไม่คิดว่าเราควรรู้สึกกระอักกระอ่วนที่ต้องพูดเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักกฎหมาย
5.เมื่อเรามีความคาดหวังว่าผู้หญิงที่เป็นเหยื่อต้องมีปฏิกิริยาเช่นนี้ แล้วในชีวิตจริงเหยื่อนิ่งเฉยไม่โวยวาย ผู้กระทำความผิดอาจอ้างได้ว่ายินยอม เพราะถ้าไม่ยอมคงดิ้นแล้ว โวยวายแล้ว และเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ (ดู CEDAW/C/57/D/34/2011 และ CEDAW/C/46/D/18/2008) รวมทั้งเป็นการวางตราบาปให้กับผู้หญิงที่ถูกข่มขืนว่าทำไมเราไม่สู้ ทำไมเราไม่หนี ถ้าเราทำแบบนั้น ผลคงไม่เป็นแบบนี้
...

6.แล้วผู้หญิงโวยวาย ดิ้นรน และเรียกให้ช่วย..จริงหรือ? หรือถามใหม่ ในทางชีววิทยาผู้หญิงในสภาวะเช่นนั้นโวยวาย ดิ้นรน ร้องให้คนช่วยได้จริงหรือ?
คำตอบอาจทำให้ประหลาดใจ เพราะถึงแม้โดยปกติเมื่อเราเผชิญกับภยันตรายร่างกายเราจะสั่งให้เราเข้าสู่สภาวะเตรียมพร้อมที่จะสู้ หรือหนี (fight or flight) ดวงตาเบิกกว้าง ลูกตาดำกรอกด้วยความเร็ว ได้ยินเสียงทุกอย่างอย่างชัดเจน

...
7.แต่ถ้าภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่หนีไม่พ้น และรู้ว่าสู้ไม่สำเร็จ (สมองเราคำนวณความเป็นไปได้เร็วมากว่าจะชนะหรือแพ้ และการคำนวณนี้อยู่เหนือการควบคุมของเรา) และภยันตรายนั้นกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะการข่มขืนเป็นภยันตรายที่อยู่ในกลุ่มนี้สมองจะสั่งการให้เราอยู่เฉยๆ
8.การสั่งการนี้ไม่ใช่การแนะนำของสมองต่อร่างกาย แต่เป็นการที่สมองยึดครองร่างกายไปจากเรา เพราะตอนนั้นสมองส่วนใช้เหตุผล (prefrontal cortex) จะถูกทำให้ใช้การไม่ได้ เราจะอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถสั่งการให้ร่างกายขยับได้ตามใจ (เหมือนกวางที่ถูกเสือจ้อง) ปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของร่างกายเมื่ออยู่ในสภาวะสิ้นหวังเช่นนั้นก็คือ จากตาที่เบิกกว้างในตอนแรก แต่ตอนนี้เราจะปิดตาลง ตัวสั่นเทา อุณหภูมิร่างกายลดลง ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด หมดเรี่ยวแรง และในกรณีที่รุนแรงคือเราไม่รู้สึกถึงตัวตน หรือแยกตัวตนออกจากร่างกายที่ถูกกระทำ เราเรียกปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ว่า "tonic immobility"

...
9.แน่นอนว่าเราสามารถเอาชนะปฏิกิริยาธรรมชาติพวกนี้ ด้วยการฝึกฝนให้ร่างกายเราคุ้นเคยกับสภาวะหวาดกลัวและสิ้นหวังนั้น เหมือนทหารที่ทำให้คุ้นเคยกับเสียงดงกระสุน เมื่อสมองคุ้นชินความหวาดกลัวรูปแบบนี้ เราก็จะยังสามารถบังคับร่างกายได้ คำถามคือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อได้ถูกฝึกหัดให้คุ้นชินกับความหวาดกลัวจากการถูกจู่โจมในทางเพศหรือไม่ ผมคิดว่าเรารู้ว่าคำตอบคือไม่ (เว้นแต่กรณีภรรยาถูกสามีข่มขืนเป็นประจำ แต่นั่นก็อาจอธิบายได้ว่าทำไมภรรยาถึงกล้าตอบโต้สามีมากกว่าผู้หญิงถูกคนแปลกหน้าจู่โจม เพราะภรรยา "อาจ" ไม่ได้หวาดกลัวสามี หรือคุ้นชินกับความหวาดกลัวนั้น เหมือนทหารที่ถูกฝึกฝน)

10.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ ได้ระบุอย่างมีความหวังว่า “ผมหวังว่าเพื่อนในเฟซบุ๊กที่เป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่เมื่อเป็นผู้พิพากษาแล้ว หรือที่เป็นผู้พิพากษาอยู่ เมื่อเจอคดีว่าผู้หญิงไม่ร้อง ไม่หนี ไม่ดิ้น จะเข้าใจปฏิกิริยาทางธรรมชาติของร่างกายได้ดีขึ้น และไม่ตัดสินคดีตามจินตนาการว่าการที่ไม่ร้อง ไม่หนี ไม่ดิ้น แปลว่ายอม ซึ่งนั่นไม่เพียงเป็นการทำลายชีวิตคนที่ถูกทำลายมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ยังเป็นการส่งต่อความเชื่อผิดๆ ให้กับคนรุ่นต่อไปด้วยครับ”
“#อย่าให้รุ่นลูกฉลาดเพียงเท่ารุ่นเรา #ข่มขืนไม่ใช่เรื่องล้อเล่น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ ทิ้งท้าย.