หวั่นไทยตกหลุมดำพัฒนาเทคโนโลยี AI หลังพบกลายเป็น Super User หรือผู้ใช้งานชั้นดี โดยผลิตวิศวกร AI เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจต้นน้ำของบริษัทเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยไม่ได้ประโยชน์จากการสร้างแบรนด์ของไทยเองหรือพัฒนาประเทศเท่าใดนัก
นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค เปิดเผยระหว่างงานเสวนารับฟังความคิดเห็น ในประเด็นความพร้อมของประเทศไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า ประเทศไทยขณะนี้ถือได้ว่าเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีชั้นดี (Super User) เรียกว่าเก่งมากในการใช้ แต่กลับไม่ได้ประโยชน์จากการสร้างแบรนด์หรือพัฒนาประเทศเท่าใดนัก
“สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้คือ เรากำลังผลิตวิศวกร AI ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมธุรกิจต้นน้ำของบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ โดยที่บริษัทต่างประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากไทย ในฐานะ Super User หรือผู้ใช้งานชั้นดี การตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ก่อให้เกิดข้อจำกัดมากมายต่อความสามารถในการควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของประเทศเรา”
การสนับสนุนให้เกิดความพร้อมของประเทศไทยต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI จึงน่าจะเป็นการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของประเทศไทย (InHouse Technology) เอง ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในแนวทางนี้ จะช่วยให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ต่างจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้าน AI (AI Talent) เพื่อที่จะเป็น Super User เพียงแค่นั้น “สิ่งที่ต้องเดินหน้าผลักดันคือการสนับสนุนให้สตาร์ตอัพไทยด้าน AI สร้างแบรนด์ของตัวเองให้ได้และผลักดันให้มีผู้ใช้งานในระดับ 1 ล้านคนขึ้นไป จึงจะตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ”
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทยแล้ว เป็นแผน 5 ปี ระหว่าง พ.ศ.2565-2570 เพื่อวางกรอบในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการจัดอันดับความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลทั่วโลก (Government AI Readiness Index)โดย Oxford Insights ปรากฏว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 31 จาก 181 ประเทศทั่วโลก เทียบกับอันดับที่ 60 เมื่อปี 2563 ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ขณะนั้นยังไม่มีนโยบายและแผนปฏิบัติการแห่งชาติทางด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยผลการศึกษาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งถือเป็นการวัดความพร้อมด้าน AI ของหน่วยงานไทยเป็นครั้งแรกของประเทศ จากกลุ่มตัวอย่าง 3,529 องค์กร ในช่วง พ.ค.-มิ.ย. 2566 ได้ข้อมูลกลับมา 565 องค์กร พบว่า 15.2% นำ AI มาใช้งานแล้ว, 56.65% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต และ 28.15% ยังไม่มีแผน จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะมีการนำ AI มาประยุกต์ใช้เพิ่มขึ้น
ผลการสำรวจยังพบว่า องค์กรที่มีการนำ AI มาใช้งานแล้ว มีความพร้อมเฉลี่ยอยู่ที่ 45.3% หรืออยู่ในระดับ “Aware” หมายถึงตระหนักถึงความสำคัญและเริ่มประยุกต์ใช้ AI โดยกลุ่มที่มีความพร้อมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจการเงิน การค้า, กลุ่มการศึกษา และกลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ
จากผลการสำรวจดังกล่าว นำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมความพร้อมของไทย ได้แก่ การพัฒนาทักษะ AI ให้กับคนไทยทุกระดับผ่านการศึกษา, การเตรียมความพร้อมข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดทำมาตรฐานข้อมูลกลางของประเทศ เพื่อรองรับการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน, การกำหนดธรรมาภิบาล AI และการสร้างความตระหนักและสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่รองรับการขยายตัวของ AI เป็นต้น.