G–Token น่ากังวลหรือไม่

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

G–Token น่ากังวลหรือไม่

Date Time: 20 พ.ค. 2568 05:40 น.

Summary

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการออกโทเคนดิจิทัลรัฐบาล หรือ Government Token (G–Token) เพื่อชดเชยภาระขาดดุลงบประมาณ และเป็นชาติแรกของโลกที่รัฐบาลออก G–Token เพื่อระดมทุน

Latest

ทรัมป์โกยทรัพย์ มั่งคั่งขึ้น จากโทเค็น-เหรียญมีม รายได้กิจการคริปโตทะลุ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการออกโทเคนดิจิทัลรัฐบาล หรือ Government Token (G–Token) เพื่อชดเชยภาระขาดดุลงบประมาณ และเป็นชาติแรกของโลกที่รัฐบาลออก G–Token เพื่อระดมทุน

รัฐบาลให้นิยามโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาล (G-Token) ว่า มีลักษณะเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาล หรือเครื่องมือที่รัฐบาลใช้กู้เงินจากประชาชน โดยผู้ถือ G-Token จะมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กำหนด

และรัฐบาลให้เหตุผลของการออก G-Token ไว้ด้วยว่า เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนรายย่อยและคนรุ่นใหม่เข้าถึงการลงทุนความเสี่ยงต่ำของรัฐบาลได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถซื้อผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ลงทุนได้ในจำนวนไม่สูง ซื้อขายได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังช่วยลดต้นทุนของการออกพันธบัตรที่เป็นกระดาษของรัฐบาลได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเพราะเป็น“นวัตกรรมใหม่ของรัฐบาล” ในการกู้เงิน ซึ่งก่อนออก G-Token รัฐบาลได้ถามเรื่องนี้มายังแบงก์ชาติ ซึ่งได้ตอบเป็นข้อเสนอไว้ 5 ข้อ 1.ระบบและกระบวนการต้องมีประสิทธิภาพและปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานพันธบัตรรัฐบาลปัจจุบัน 2.ควรอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสม

3.ต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง นับเป็นการกู้เงินภายใต้กรอบที่กำหนด 4.การบริหารจัดการต้องไม่เข้าข่ายการสร้างเงิน และหากจ่ายผลตอบแทนด้วยโทเคนดิจิทัล รัฐต้องมีเงินรองรับเต็มจำนวน 5.มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนและการออมเท่านั้น ห้ามใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน และต้องมีกลไกป้องกันการใช้ผิดวัตถุประสงค์

ถอดความง่ายๆก็คือ รัฐบาลต้องออก G–Token ในลักษะเดียวกับการออกพันธบัตรรัฐบาล ต้องออกภายในแผนกู้เงินที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และนับ G–Token เป็นหนี้สาธารณะ และที่สำคัญที่สุด คือ G–Token จะอยู่ในลักษณะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เงินดิจิทัล จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนชำระแทนเงินไม่ได้

ขณะที่ในส่วนของข้อกฎหมายที่ดูแล G-Token แบงก์ชาติ มองว่า ควรอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯที่กำลังแก้ไข มากกว่า พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลที่รัฐบาลมองไว้ เพื่อให้เข้าข่ายโครงสร้างใช้สำหรับบริหารหนี้รัฐบาล

และคีย์เวิร์ดสำคัญ คือ ต้องไม่มี “การสร้างเงินใหม่” ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลังขึ้นมา

ดังนั้น หากรัฐบาลจะยืนยันได้ว่า การออก G-Token เพื่อเป็นเพียงเครื่องมือการก่อหนี้ใหม่ตามแผนการกู้หนี้เดิม เช่นเดียวกับการออกพันธบัตร แต่ทันสมัยกว่า โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้าง “วงเงินก่อหนี้แอบแฝง” เพื่อให้สามารถสร้างเงินใหม่ขึ้นมา โดยใช้ตัวรัฐบาลเป็นประกันแทนสินทรัพย์ หรือเพื่อให้สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ไม่จำกัด รวมทั้งจะไม่ทำอะไรที่ทำให้ G-Token กลายมาเป็นสื่อกลางในการชำระแทนเงิน การออก G-Token น่าจะเป็นธุรกรรมที่มีประโยชน์

แต่ทั้งนี้ สุดท้ายจะเป็นอย่างไร G–Token ก็เป็นเพียงเครื่องมือทางการเงินจะดีร้าย จะน่ากังวลใจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยหรือไม่นั้น ขึ้นกับ “คนที่จะเลือกวิธีใช้มัน” มากกว่า.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ