อธิบาย G-Token ทางเลือกใหม่ ลงทุนหนี้รัฐ ประชาชนเข้าถึงง่าย ซื้อขายผ่านกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อธิบาย G-Token ทางเลือกใหม่ ลงทุนหนี้รัฐ ประชาชนเข้าถึงง่าย ซื้อขายผ่านกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล

Date Time: 14 พ.ค. 2568 09:58 น.

Video

สหรัฐฯ เสี่ยงเบี้ยวหนี้ ? ผลประชุม FED จะมีเซอร์ไพรส์ ? | Thairath Money Night Stand EP.4

Summary

  • หลังจากเมื่อวานนี้ 13 พ.ค.ที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออก Government Token หรือ G-Token โดยมีวงเงินทดลอง 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล เพื่อระดมทุนจากประชาชนโดยตรง หลายคนเมื่อได้ยินแบบนี้แล้วอาจนึกถึงคริปโตฯ หรือ โทเคนดิจิทัลที่ต้องคนมีความรู้เฉพาะทางเท่านั้นถึงจะมาลงทุนได้ แต่จริงๆแล้วต้องบอกว่า G-Token ไม่ใช่คริปโตฯ และไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด

หลังจากเมื่อวานนี้ 13 พ.ค. ที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออก Government Token หรือ G-Token โดยมีวงเงินทดลอง 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล เพื่อระดมทุนจากประชาชนโดยตรง หลายคนเมื่อได้ยินแบบนี้แล้วอาจนึกถึงคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัลที่ต้องคนมีความรู้เฉพาะทางเท่านั้นถึงจะมาลงทุนได้ แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่า G-Token ไม่ใช่คริปโตฯ และไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด

G-Token คืออะไร?

ถ้าให้อธิบายให้ง่ายที่สุด เปรียบเหมือนพันธบัตรรัฐบาลแบบใหม่ กล่าวคือ จะมองว่าเป็น “เครื่องมือทางการเงินใหม่” ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายกว่าเดิม ด้วยจำนวนเงินเริ่มต้นเพียงหลักร้อย โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของภาครัฐเป็นหลักประกัน ซึ่งสิ่งนี้มันเหมือนกับการลงทุนกับหนี้รัฐบาล ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่แต่อย่างใด และมีการใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในการกระจายการถือครอง

กล่าวคือแทนที่จะซื้อผ่านธนาคาร รัฐเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ซื้อขายผ่านแอปหรือระบบออนไลน์ โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการในระบบตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่พร้อมรองรับ G-Token แล้วประมาณ 7–8 ราย ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายและการดูแลระบบหลังบ้าน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายว่า “โดยทั่วไปการออกพันธบัตรออมเงินจะออกโดยสถาบันขายให้กับประชาชน เราจึงเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนให้รัฐบาล”

พร้อมกันนั้นยังได้เน้นย้ำว่า “G-Token เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี และไม่สามารถนำไปใช้แทนเงินสดหรือซื้อขายสินค้าได้ ไม่ใช่เครื่องมือการชำระเงิน แต่ประชาชนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินทั่วไป และสามารถเริ่มต้นลงทุนได้น้อย สมมุติจะลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท 1,000 บาท ก็ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่แต่อย่างใด”

G-Token ต่างจากพันธบัตรแบบเดิมอย่างไร?

หากมองย้อนกลับไป พันธบัตรออมทรัพย์แบบเดิมมักต้องซื้อผ่านธนาคาร ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นหลักพันถึงหมื่นบาท แต่ G-Token เปลี่ยนกระบวนการทั้งหมดมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ผ่านมือถือ แม้ว่าก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเคยทดลองเปิดขายพันธบัตรผ่านแอป "เป๋าตัง" ซึ่งเป็นระบบแบบเปิด ลงทุนขั้นต่ำ 100 บาท และแสดงข้อมูลถือครองแบบเรียลไทม์ โดยการซื้อขายทำผ่านระบบวอลเล็ตทันทีก็ตาม

แต่สำหรับ G-Token นั้น เป็น "สินทรัพย์ดิจิทัลเต็มรูปแบบ" ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. และสามารถซื้อขายผ่านผู้ให้บริการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล แม้ช่วงแรกจะยังไม่มีตลาดรองหรือระบบซื้อขายเสรี แต่โครงสร้างทางกฎหมายถือว่าอยู่ในหมวดโทเคนดิจิทัล ไม่ใช่พันธบัตรแบบเดิม

แม้จะไม่ได้ต่างกับสิ่งเดิมที่เคยมีมาแล้วมากนัก แต่อาจชวนมองได้ว่า รัฐบาลต้องการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือสร้าง "ตลาดการเงินใหม่" ที่ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในฐานะนักลงทุนรายย่อยก็เป็นได้

ความเสี่ยง และข้อควรระวัง มีอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง แม้ว่าเป้าประสงค์ของการออก G-Token คือการขยายฐานผู้ลงทุนให้กว้างกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ให้หันมาสนใจลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมที่ความเสี่ยงน้อยลง รวมถึงคนที่อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในตลาดทุนให้มาสนใจการลงทุนมากขึ้นนั้น

แต่ยังมีข้อควรระวังที่ต้องจับตาไม่น้อยสำหรับเครื่องมือทางการเงินใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจธรรมชาติของสินทรัพย์อย่างโทเคนว่ามีความเสี่ยงด้านราคาและสภาพคล่องมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าหากไม่มีตลาดรองที่ชัดเจน การจะขายออกก่อนกำหนดอาจทำได้ยากอีก รวมถึงวิธีการจ่ายผลตอบแทนจะทำในรูปแบบใด แน่นอนว่าการจ่ายผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ หรือคล่องตัวแบบการจ่ายผ่านธนาคารแบบเดิม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่า G-Token จะอยู่ภายใต้ระบบควบคุมที่ปลอดภัย ร่วมกับ ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับตลาดทุน ขณะเดียวกันก็ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าโทเคนดังกล่าวจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ทั้งนี้ การเปิดให้ประชาชนจองซื้อ G-Token คาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า โดยจะวางแผนเปิดจำหน่ายจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ภายใต้ขนาดการทดลองที่เหมาะสม ก่อนพิจารณาขยายวงเงินหรือขอบเขตการดำเนินงานเพิ่มเติมในระยะถัดไป หากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ