7 ปี JFIN Coin คริปโตไทยยุคบุกเบิกจากเหรียญแลกสินค้าใน Jaymart สู่โครงสร้างพื้นฐานการเงินแห่งอนาคต

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

7 ปี JFIN Coin คริปโตไทยยุคบุกเบิกจากเหรียญแลกสินค้าใน Jaymart สู่โครงสร้างพื้นฐานการเงินแห่งอนาคต

Date Time: 18 ก.พ. 2568 15:32 น.

Video

 ทำไม BlackBerry ถึงจะไม่มีวันกลับไปทำธุรกิจมือถืออีกต่อไป ?  | Digital Frontiers

Summary

  • บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ประกาศครบรอบ 7 ปี JFIN จัดงาน JFIN 24th Meetup: Vision 2025 Build & Beyond พร้อมเผยแผนกลยุทธ์ปี 2025 เดินหน้าจับมือพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ขยายระบบนิเวศ JFIN เชื่อมโลกจริงและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานบล็อกเชน การพัฒนาโทเคนดิจิทัล และการขยายการใช้งานจริงในโลกธุรกิจ ทั้ง Web2 และ Web3

บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ประกาศครบรอบ 7 ปี JFIN จัดงาน JFIN 24th Meetup: Vision 2025 Build & Beyond พร้อมเผยแผนกลยุทธ์ปี 2025 เดินหน้าจับมือพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ขยายระบบนิเวศ JFIN เชื่อมโลกจริงและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานบล็อกเชน การพัฒนาโทเคนดิจิทัล และการขยายการใช้งานจริงในโลกธุรกิจ ทั้ง Web2 และ Web3

ครบรอบ 7 ปี JFIN

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ CEO ของ JVC เล่าย้อนเรื่องราวของ JFIN Coin ว่า เริ่มต้นในปี 2018 ในช่วงที่โลกกำลังหันหน้ามาสนใจในเทคโนโลยีบล็อกเชน และเป็นช่วงที่ยังไม่มีเชนที่หลากหลายนัก โดย JFIN Coin เกิดบนเชน Ethereum ในช่วงที่เริ่มมีการเปิด ICO (Initial Coin Offering) หรือการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคนผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน โดยผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออก Digital Token มาแลกกับเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) สกุลหลัก

JFIN ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนได้เกิด JFIN Chain ขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้วาง Infrastructure ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยยุคหลัก ๆ ของการพัฒนามีอยู่ 3 Steps ดังนี้

  • ยุค JFIN Coin เปิดตัวมาเป็น DDLP หรือ Decentralized Digital Lending Platform เป็นช่วงเริ่มต้นที่พยายามสร้างให้เกิดระบบนิเวศทางการเงินบนบล็อกเชนที่เชื่อมกับโลกจริง อย่างเช่น การให้แลกเหรียญ JFIN กับสินค้าในร้าน Jaymart
  • ยุค JFIN Chain ออกแบบ Infrastructure ของ JFIN นำมาสู่การสร้างเหรียญใหม่ ๆ โปรโตคอลใหม่ ๆ เกิดขึ้นบนเชน ตลอดจน NFT, Staking, Wallet และ Digital Lending ที่ช่วยสร้างระบบนิเวศของ JFIN
  • ยุค Digital Transformation ก้าวใหม่สู่การทำ Tokenization ขยายตลาดสู่การแปลงสินทรัพย์สู่ดิจิทัล (RWA หรือ Real World Asset Tokenization) ตลอดจนการจับมือกับภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ขยายการใช้งาน JFIN Chain

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 2 ล้านราย มีการทำธุรกรรมกว่า 30 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วย Transform องค์กรอื่น ๆ ไปแล้ว 7 แห่ง

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการเปิดตัว “Business Blockchain Technology (BBT)” และโครงการ “Grant Project” เพื่อสนับสนุนนักพัฒนาและสตาร์ทอัพที่ต้องการสร้างโครงการบน JFIN Chain อีกด้วย

จับมือพันธมิตร เพิ่มโอกาสใหม่ในการลงทุนดิจิทัล

JVC เดินหน้าผสานโลกจริงและบล็อกเชน พร้อมกับดึงสู่ภาคธุรกิจ ผ่าน Real World Asset Tokenization เพิ่มโอกาสในการลงทุนและขยายตลาดสู่ Web3 เตรียมรับการเติบโตของโลกบล็อกเชน ตามที่การ์ทเนอร์คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2030 โลกของเราจะเข้าสู่ยุคที่สามารถ Enhance Blockchain เข้าสู่ชีวิตประจำวันได้มากขึ้นแล้ว อีกทั้งเชนต่าง ๆ จะมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นและแตกต่างกัน

JVC จับมือ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ Kingsford ตั้งบริษัทร่วมทุน KANE Digital ที่มุ่งเน้นที่การระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering) และ Investment Token โดยสอดคล้องกับกฎระเบียบของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น

  • Project-based ICO: การระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการตามแผนธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือพลังงานสะอาด
  • Real Estate-backed ICO: การลงทุนที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันและสามารถสร้างกระแสรายได้
  • Infrastructure-backed ICO: การลงทุนที่อ้างอิงกระแสรายได้จากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง ท่าเรือ และพลังงานทางเลือก

และคาดว่าในเร็ววันนี้ จะมีการออกเหรียญที่หนุนด้วยสินทรัพย์มีมูลค่า อย่างเช่น ไวน์ ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ JVC ยังได้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์อื่น ๆ อีก ได้แก่

  • SANGA แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกับ JVC, Avantis และ Token X ปฏิวัติวงการอสังหาริมทรัพย์ผ่านโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชนที่หนุนหลังด้วยบ้านพักตากอากาศในญี่ปุ่น ที่นักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนการลงทุนจากกระแสรายรับของอสังหาริมทรัพย์อ้างอิงดังกล่าว
  • Metal Valley เกม Multi-chain แรกในประเทศไทยที่ทำงานบนเครือข่ายบล็อกเชน Bitkub Chain และ JFIN Chain พร้อมกัน ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นนักล่าหุ่นยนต์รับจ้าง สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไอเทมผ่าน Chain ได้

รู้จัก Thai Programmable Payment

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการพูดคุยถึงโครงการ “Thai Programmable Payment Sandbox” ความร่วมมือระหว่าง JFIN Chain และ Bitkub Chain ที่เรียกได้ว่าจะเป็นระบบการชำระเงินดิจิทัลแห่งอนาคต ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการทดสอบโดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยคอยกำกับดูแล

สำหรับ Thai Programmable Payment คือ ระบบการชำระเงินแบบใหม่บนโลกบล็อกเชนที่ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่การแลกเปลี่ยนมูลค่าแบบปกติ แต่ยังสามารถตั้งเงื่อนไขการชำระเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเงื่อนไขชำระเงินล่วงหน้า ตลอดจนให้ชำระเงินอัตโนมัติตามกำหนดหรือเมื่อเงื่อนไขที่ตั้งถูกต้อง โดยจะทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยี Smart Contract และ Blockchain

สิ่งนี้จะช่วยให้การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีความปลอดภัยสูงสุด โดยข้อมูลการชำระเงินจะถูกบันทึกและเก็บรักษาอย่างโปร่งใสในเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายเครื่องโดยไม่ต้องพึ่งพาศูนย์กลางควบคุม

นอกจากนี้ Programmable Payment นี้จะแตกต่างจาก Programmable Money ตรงที่ Programmable Money มักจะเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC ที่จะสามารถกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายได้ตามนโยบาย เช่น การใช้จ่ายเฉพาะกับสินค้าหรือบริการบางประเภท ส่วน Programmable Payment คือระบบการชำระเงินที่สามารถกำหนดเงื่อนไขในการทำธุรกรรมได้ล่วงหน้า โดยการใช้งานในระดับธุรกิจหรือการพาณิชย์ที่มีความยืดหยุ่นและอัตโนมัติมากกว่า

ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง JFIN Chain และ Bitkub Chain ในการพัฒนา Thai Programmable Payment Sandbox ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกรรม ทั้งในด้านความปลอดภัย ความโปร่งใส และความรวดเร็ว

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ