Passion Investment สไตล์ "เบิร์ท มานิตย์" สะสมในสิ่งที่รัก ลงทุนในสิ่งที่ชอบ

Personal Finance

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Passion Investment สไตล์ "เบิร์ท มานิตย์" สะสมในสิ่งที่รัก ลงทุนในสิ่งที่ชอบ

Date Time: 17 พ.ค. 2565 08:41 น.

Video

ธุรกิจลับ Toyota ถ้าไม่ได้ขายรถ หาเงินจากไหน ทำไมถึงยิ่งใหญ่อยู่วันยังค่ำ ? | Digital Frontiers

Summary

  • Passion Investment สไตล์ เบิร์ท มานิตย์ ชอบอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มมูลค่าในอนาคตด้วย

Latest


  • รู้จัก Passion Investment สะสมในสิ่งที่รัก ลงทุนในสิ่งที่ชอบ
  • Passion Investment สไตล์ เบิร์ท มานิตย์ ชอบอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มมูลค่าในอนาคตด้วย
  • จากนักกฎหมายสู่เทรดเดอร์ เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกุหลาบ เจ็บมาเยอะ เพราะคำว่ารักที่เกือบไม่ทัน Cut Loss  

กระแส Passion Investment หรือ การลงทุนในของสะสม กลับมาได้รับความสนใจของคนทั่วไปอีกครั้ง หลังน้องแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล หรือ แบมแบม GOT7 ได้สวมนาฬิกา Jacob & Co. รุ่น Astronomia Solar Jewelry Planets Zodiac ราคาประมาณ 28 ล้าน ทำให้หลายคนเริ่มสนใจ และอยากรู้เกี่ยวกับ Passion Investment มากขึ้น

จริงๆ แล้ว Passion Investment ที่นักสะสมชอบกันไม่ได้มีแค่นาฬิกาเท่านั้น แต่ยังมีกระเป๋าแบรนด์เนม รองเท้าแบรนด์เนม รถคลาสสิก วิสกี้ ไวน์ เครื่องดนตรี รวมไปถึงงานศิลปะต่างๆ ที่สร้างมูลค่าได้หลายเท่าในอนาคต ที่สำคัญยังสร้างความสุขในจิตใจเหลือคณานับ เพราะของบางอย่างต่อให้มีเงินก็ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ ถ้าไม่มีโอกาส และวาสนา

รอบนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ เบิร์ท มานิตย์ ศรายุทธิกรณ์ Trader ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะเข้าไปคุยกับเขาในแฟนเพจเฟซบุ๊ก Bert Manit แลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ

เบิร์ท บอกกับเราว่า สำหรับ Passion Investment สไตล์ผมจะชอบนาฬิกามากที่สุด ไม่ใช่แค่ความสวยงาม หรือสามารถสวมใส่เพียงอย่างเดียว แต่การทำการตลาดของผู้ผลิตนาฬิกาถือว่ามีความน่าสนใจมากๆ

ปัจจุบันผู้ผลิตนาฬิกา เช่น Richard Mille (ริชาร์ด มิลล์) Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลิปป์) ROLEX (โรเล็กซ์) ที่ผลิตและทำให้นาฬิกากลายเป็นของสะสมที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต

เช่น จำกัดการผลิต เลิกผลิตบางรุ่น ให้เซเลบคนดังสวมใส่ เป็นต้น ที่สำคัญนาฬิกาได้รับการยอมรับมากที่สุดในบรรดาของสะสม เพราะเปลี่ยนมือง่าย ตรวจสอบได้ง่าย ซึ่งต่างกับงานงานศิลปะที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ หรือรถยนต์คลาสิกที่ไม่ได้เอามาใช้งานได้บ่อยๆ 

ปัจจุบันนาฬิกาที่ผมสะสมอยู่ 3 เรือน คือ Patek nautilus 5980-1a, Richard Mille rm11-03 titanium และ Richard Mille rm35-02 Rafael nadal red ซึ่งเวลาผมจะซื้อของพวกนี้ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ผมชอบแล้ว ก็ต้องคิดถึงรีเทิร์นที่เราจะได้ด้วย เช่น ปีที่แล้วนาฬิกาที่เราซื้อมา 1 ล้านบาทถ้วน แต่ปีนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้าน เท่ากับเราได้รีเทิร์นเฉลี่ยประมาณเดือนละหมื่นกว่าบาท 

"ผมมี Patek Philippe ที่เลิกผลิตไปแล้ว ได้มาเมื่อ 3 ปี ตอนนั้นซื้อมาในราคา 2.4 ล้าน ณ วันนี้ก็ราคาประมาณ 5 ล้านบาท คำนวณรีเทิร์นแล้วก็ถือว่าโอเค"

สะสมงานศิลปะผ่าน NFT Bored Ape Yacht Club

นอกจากนาฬิกาที่เบิร์ทชอบสะสมแล้ว เขายังมีสะสมงานศิลปะผ่าน NFT คอลเลกชัน Bored Ape Yacht Club ถือเป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่มีเจ้าลิงขี้เบื่อสะสมไว้

เบิร์ท เล่าว่า ที่ผมชอบ BAYC เพราะลิงขี้เบื่อดัดแปลงรูปได้ไม่เหมือน CryptoPunk ที่เป็นรูปนิ่งๆ ความนิยมของ BAYC จึงได้รับความนิยมมากกว่า ที่สำคัญเขามีจำกัดแค่ 1 หมื่นตัว หลายคนที่สะสมเจ้าลิงขี้เบื่อก็เช่น จัสติน บีเบอร์ มาดอนน่า และเนย์มาร์ หากมองระยะยาวมูลค่าของ BAYC ไปได้ไกลกว่านี้ 

ทั้งนี้ NFT เป็นดิจิทัลอีกแบบหนึ่ง เป็นภาพวาดไฟล์ทั่วไปที่เข้าระบบบล็อกเชน เราสามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ ธุรกรรม ต่างจากไฟล์อาร์ต ดูจากลายเซ็นก็ค่อนข้างยาก แต่อันนี้เป็นรหัสขึ้นบนเว็บไซต์ออนไลน์ตรวจสอบได้ ถือเป็นงานศิลป์อนาคตใหม่ และผมมองว่าเด็กยุคใหม่จะเติบโตมากับ NFT 

ส่วนการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะบิตคอยน์ หรือ BTC เป็นการลงทุนของโลกยุคใหม่ ซึ่ง BTC มี Bitcoin Halving ที่จำกัดการขุดทุก 4 ปี และจะขุดได้ยากขึ้น แม้ราคาปัจจุบันจะลงมาพอสมควร แต่ตอนนี้อยู่กลางไซเคิล ซึ่งเหลืออีก 2 ปี เมื่อจำกัดการขุดราคาก็จะกลับมา ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าวัฏจักรของการลงทุนก็มีขึ้นมีลงเป็นปกติ

ทั้งนี้ คริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นการลงทุนระหว่างหุ้นกับทองคำ มีการเก็งกำไร มีการคีย์ออเดอร์ซื้อขายเหมือนหุ้น เหมือนทองคำ เพราะเป็น Digital Asset มีการเข้ารหัสแบบบล็อกเชน มีการตรวจสอบธุรกรรม และ BTC มีประมาณจำกัด 28 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างหุ้นและทองนั่นเอง 

"ผมมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเทรนด์ใหม่ของโลกไม่ใช่แค่ไทยอย่างเดียว ทั้งการลงทุนใน NFT คริปโต หรือ Metaverse โดยเฉพาะหลังยุคโควิด เพราะเข้าถึงง่าย คนอยากลงทุน นอกจากเหนือจากงานประจำ การทำธุรกิจหลายคนก็มองหาการลงทุนอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต"

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกุหลาบ เจ็บมาเยอะ เพราะคำว่ารักที่เกือบไม่ทัน Cut Loss

สำหรับเส้นทางการเป็น Trader ของเบิร์ทนั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาเริ่มเล่าว่า แต่ก่อนผมทำงานประจำเป็นทนายความ ทำอยู่ประมาณอยู่ 6 ปีก็เลยตัดสินใจมาทำเป็นเทรดเดอร์อิสระเต็มตัว ตอนลาออกมาอายุ 29 ปี ปัจจุบันก็ 37 ปีแล้ว

ตอนนั้นผมทำงานประจำไปเรื่อย ก็เริ่มอยากมีธุรกิจของตัวเอง แต่ประเด็นคือเราต้องใช้เงินทุนสูงมาก ค่าบริหารจัดการ ค่าเช่าสถานที่ เงินที่มีอยู่ก็คิดว่าไม่น่าจะพอ เราก็เริ่มหามองหาหากเราลงทุนน่าจะใช้ต้นทุนที่น้อยกว่า มีแค่คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และความรู้ ผมก็เลยเริ่มจากตรงนี้ คิดว่าได้เงินตามเป้าก็ค่อยเอาเงินจากตรงนี้ไปต่อยอดทำธุรกิจต่อไป

"จากวันนั้นถึงวันนี้ผมก็ยังไม่ได้ทำธุรกิจตามที่ตั้งใจไว้ แต่กลายเป็นนักลงทุนอิสระแบบ 100% ตอนนั้นเงินลงทุนครั้งแรกที่เปิดพอร์ตลงทุนก็ประมาณ 3 แสนแรก ผมขอเงินแม่มาส่วนหนึ่ง และอีกส่วนก็เป็นเงินเก็บที่ทำงานมา 6 ปี เงินเดือนสุดท้ายที่ลาออก คือ ได้เงินเดือนประมาณ 70,000 บาท"

สงสัยกันแล้วใช่ไหมว่า พอร์ตที่เริ่มจาก 3 แสนเมื่อ 8 ปีก่อนงอกเงยมาอยู่ที่เท่าไรแล้ว เบิร์ท บอกว่า พอร์ตหลักแสนนั้นได้เดินทางมาถึง 9 หลักแล้ว หรือประมาณพันล้าน ก็ค่อยๆ ไต่มาเรื่อยๆ ตอนตัดสินใจออกจากงานก็มีในพอร์ตแล้วประมาณ 1 ล้าน

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องเรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของการขาดทุนที่ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นวัฏจักรของการลงทุน เป็นธรรมดามีกำไรก็ต้องมีขาดทุน

เบิร์ท บอกว่า บทเรียนสำคัญของผม คือ รักไม่ยอมตัดใจ เรารักหุ้นตัวนี้มากเกินไป ทำให้พอร์ตขาดทุนประมาณ 50% ก็ถือเป็นบทเรียนของเรา หุ้นที่ทำให้ผมรักและยังไม่ยอมมอบตัว คือ หุ้นเครื่องสำอาง ซื้อจาก 1 บาทก็เก็บไปเรื่อยๆ จนถึง 24 บาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 12 บาท

มีวันหนึ่งหุ้นตัวนั้นตกจาก 24 บาทเหลือ 12 บาท จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นลงมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ยที่ผมซื้อ ตอนนั้นผมทำใจไม่ได้เลยนะ เพราะเราคิดว่าเราซื้อมา 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่ยอมขาย จากนั้นราคาหล่นลงมา 8 บาท จากกำไร 100% เป็นขาดทุน

ตอนนั้นเพื่อนก็มาเตือน ผมเลยพิจารณาแล้วว่ายังไงคงต้องขาย เพราะดูจากกราฟ สัญญาณทางเทคนิค และข้อมูลพื้นฐาน ผลประกอบการต่างๆ ก็คิดว่าหุ้นตัวนี้น่าจะขาย ผมเรียกว่า มอบตัว สิ่งที่สำคัญเลย ถ้าเราขาดทุน เราต้องยอมรับ และรู้ว่าเราแพ้ ถ้าภาษาการเทรดจะเรียกว่า Cut Loss หรือ ตัดขาดทุน

"คำว่ารู้แพ้ รู้ชนะ จริงๆ ก็ใช้ได้หมดนะ ไม่ว่าจะทำงาน หรือทำธุรกิจ แม้ทั้งการลงทุน ทุกอย่างมีผิดพลาด เราก็เรียนรู้จากการผิดพลาดนั้นหุ้นก็เหมือนกันต้องรู้จักยอมแพ้และ Cut Loss ให้ไวให้เร็ว"

เบิร์ท บอกว่า แต่เดิมผมก็ไม่ได้สนใจการลงทุนเท่าไร เพิ่งจะมาศึกษาจริงจังช่วงใกล้ๆ จะออกจากงาน แต่เราพอรู้จักการลงทุนอยู่บ้าง เพราะคุณแม่เล่นหุ้นมาตั้งแต่ปี 40 พาเราไปหลักทรัพย์บ้าง ไปนั่งในห้องค้าบ้าง แต่เราก็ไม่ได้สนใจเท่าไร

"ผมก็เริ่มค้นหาแนวทางด้วยการอ่านหนังสือ ดูคลิปในยูทูบ หาเรียนคอร์สเรียนฟรีก็จำไปเรื่อยๆ จนเจอแนวทางของตัวเองก็เอามาปรับใช้หาสไตล์การลงทุนจนเจอ"

ส่วนใครที่กำลังจะเริ่มต้นลงทุน เทคนิคที่อยากแนะนำก็ลองหาหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนทั่วไปมาอ่าน ให้คิดเสียว่าเราต้องรู้เท่าๆ กันก่อน จากนั้นค่อยสิ่งที่เฉพาะเจาะจง และก็หาแนวทาง

เช่น 100 คนอ่าน หนังสือดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และ ดูคลิปเสี่ยป๋อง วัชระ แก้วสว่าง แต่เชื่อเถอะว่า 100 คนนั้นก็มีแนวทางการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน จากนั้นก็มาแนวทางว่าเราชอบการลงทุนแบบไหน แต่เทคนิคสำคัญ คือ ให้รู้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ต้องระมัดระวัง รู้แพ้ รู้ชนะ มีโอกาสผิดพลาด และต้องรู้จัก Cut Loss อย่ายึดติดกับคำว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน เราต้องมองใหม่เพราะการลงทุนในปัจจุบันไม่เหมือนกับอดีต เหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอด เช่น โควิด หรือ การมีสงคราม

ปัจจุบันสินทรัพย์ในพอร์ต 9 หลักของเบิร์ท มีหุ้นประมาณ 80% มีทั้งหุ้นไทย และหุ้นต่างประเทศที่ลงทุนผ่านกองทุน เช่น กองทุนหุ้นจีน และกองทุนสหรัฐฯ ส่วนอีก 20% เป็นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด รวมถึง Passion Investment เช่น นาฬิกา BAYC Lamborghini huracan evo fluo capsule และ Porsche Taycan

ล่าสุด ผมกำลังจัดสรรพอร์ตไปลงทุนอสังหาฯ ถือเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ต่ำ มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้น แต่สภาพคล่องจะต่ำไปด้วย ซึ่งในภาพรวมก็ไม่ได้ไม่ทำให้พอร์ตที่เรามีอยู่เสี่ยงมากเพราะมีสินทรัพย์ปลอดภัยบ้าง ส่วนที่ดินที่ผมมองไว้ก็พวกแถวอารีย์ ปัจจุบันเป็นย่านการค้าเจริญเติบโต และตอนนี้ที่ดินรกร้าง หรือบ้านแถวนั้นก็เริ่มพัฒนาเป็นร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าขึ้นแทนที่แล้ว

จัดพอร์ตเก่ง ต้องจัดสรรตารางชีวิตด้วย

หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมงเจ้าของพอร์ต 9 หลักอย่างเบิร์ทก็ทุ่มเทหาความรู้ และเรียนรู้การลงทุนจนเกือบจะต้องสูญเสีย โดยเขาเล่าว่า เวลาผมทำงานเราก็ทุ่มเวลาให้ตรงนั้นเกือบหมด โฟกัสเกี่ยวกับการลงทุนโดยไม่ได้สนใจคนรอบข้างเท่าไร

ด้วยความที่ผมกับแม่อยู่คนละบ้าน พอเราเป็นเทรดเดอร์ฟูลไทม์ ก็ยิ่งทำให้คุยกับแม่น้อยลงไปอีก เมื่อต้นปี 64 ที่ผ่านมาแม่ไม่สบายเป็นไข้และหกล้ม ก็มาตรวจพบว่า เป็นวัณโรคที่กระดูกสันหลัง ต้องผ่าตัดในวัย 77 ปี ตอนนั้นก็ทิ้งพอร์ตเลยนะไม่สนใจเลยเพราะเราไม่รู้เหตุการณ์ข้างหน้าว่าแม่เราจะเป็นอย่างไร

"ตอนแม่กำลังจะผ่าตัดเหมือนเป็นบททดสอบชีวิตผมอีกครั้ง เราอาจจะสูญเสียแม่ไปได้ทุกเมื่อ เพราะการผ่าตัดก็มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ผมกับแม่มีกันอยู่สองคน ผมก็กังวลอะไรหลายๆ อย่าง เรายังมีความฝันที่ยังไม่ได้ทำกันอีกเยอะ"

หลังจากผ่าตัดเสร็จ อาการของแม่ก็ดีขึ้น แต่แม่ก็เดินได้ช้าลง หลังคล่อมเล็กน้อย ผมจึงตัดสินใจซื้อบ้านใหม่และกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง หาคนช่วยดูแลเพิ่ม ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าเราจัดสรรเวลาได้ไม่ดีพอ ตอนนั้นเราให้น้ำหนักอย่างอื่นมากกว่า เช่น อ่านหนังสือ หาความรู้ เรื่องการเทรด ออกกำลังกาย ไปปาร์ตี้ ส่วนแม่ก็อยู่ท้ายๆ ตอนนี้เราเปลี่ยนวิธีคิดให้ความสำคัญกับแม่ก่อนที่จะไปทำโน่นทำนี่

ปัจจุบันเบิร์ทมักจะหาข้อมูล และทบทวนการเทรดว่า ทำไมกำไร หรือขาดทุนเยอะ และบันทึกผลการเทรด อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง หรือเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการลงทุน เขาบอกว่า จริงๆ แล้วผมเป็นนักลงทุนแบบผสมผสาน ดูเทคนิคกับพื้นฐานเป็นสำคัญ มีจังหวะก็ขาย ตัวนี้สูงก็ขาย ตัวนี้ต่ำก็กลับมาซื้อ เราให้ความสำคัญอย่างละครึ่ง

ระยะสั้น 1-3 เดือนนี้ ผมมองว่าหุ้นมีโอกาสต่ำกว่าจุดปัจจุบันก็จะถือเงินสดเอาไว้เพื่อเพราะมีโอกาสซื้อของถูก โดยจะเน้นหุ้นพื้นฐานดี เป็นกิจการที่เราเห็นได้ทั่วไป เป็นกิจการที่ไม่ได้หายไปจากตลาด หรือเจอเขาได้ตลอด เช่น ร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร หรือ กลุ่มค้าปลีก

ส่วนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันก็น่าสนใจแต่ต้องดูเป็นรายตัว และหุ้นกลุ่ม ตัวนี้น่าจะโอเค ผมมองว่าโควิดกำลังจะคลี่คลาย การติดเชื้อเบาบางลง ซึ่งเมืองไทยเป็นอุตสหกรรมการท่องเที่ยว หากรัฐบาลจะดันจีดีพี ก็ต้องส่งเสริมท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเราจะเห็นว่ากราฟในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแข็งกว่าตลาด ลงน้อยกว่าตลาด ทำให้เราโฟกัสว่าปีนี้การท่องเที่ยวน่าสนใจ

คำถามสุดท้ายก่อนจากกันเราให้เขาลองนึกภาพตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้า เบิร์ท บอกว่า ตอนนั้นผมคงโฟกัสเรื่องครอบครัวมากขึ้น อยู่กับคนที่รัก จากปัจจุบันสร้าง Active Income ในตอนนั้นอาจจะเป็น Passive Income และเกษียณตัวเองให้เร็วขึ้น

สัมภาษณ์ : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 

ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ