นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปีว่า เป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการที่ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า โดยไม่ได้เป็นผลจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้จากตัวเลขการลงทุนของต่างชาติทั้งปี 2562 ที่เป็นการไหลออกสุทธิ ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 7-8% แต่ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ หากคิดตั้งแต่ปลายปี 62 จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 1%
อย่างไรก็ตาม ธปท.มีความเป็นห่วงการแข็งค่าของเงินบาท และโดยที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ผ่านการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และขายเงินบาทในตลาดทันที ซึ่งส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562 เงินทุนสำรอง เพิ่มขึ้นเกือบ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 240,000 ล้านบาท (30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ไม่รวมสัญญาซื้อล่วงหน้า ซึ่งหาก ธปท.ไม่ได้เข้าไปดูแลเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน
“ปีนี้ ในส่วนของ ธปท.ยังคงมีแนวทางที่จะเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องในกรณีที่ค่าเงินแข็งเร็วเกินไป ยกเว้นในกรณีที่พบว่า มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากต่าง ประเทศ ธปท.จะออกมาตรการเพิ่มเติมออกมาเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงิน เพราะตามปกติ หากต่างชาติไม่เริ่มเก็งกำไรค่าเงินบาท คนไทยจะไม่เก็งกำไร แต่หากต่างชาติเริ่มคนไทยจะร่วมด้วย ดังนั้น หากเราป้องกันไม่ให้ต่างชาติเก็งกำไรได้ในส่วนคนไทยก็ไม่ต้องห่วง และเท่าที่ติดตามยังไม่เห็นการเข้ามาเก็งกำไรที่ผิดปกติ” พร้อมย้ำว่า ธปท.มีเครื่องมือและมาตรการดูแลค่าเงินบาท
นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้การนำเงินออกไปลงทุนทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะที่แพ็กเกจเพื่อลดการแข็งค่าขอเงินบาทเพิ่มเติมนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และหารือถึงแนวทางในการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทมาต่อเนื่อง และพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าจำเป็น.