ทำงานหนัก รายได้เยอะ แต่ทำไม “เงิน” ไม่พอใช้! เปิดเคล็ดลับ “วิชาใช้เงิน” ที่สำคัญไม่แพ้ วิชาหาเงิน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำงานหนัก รายได้เยอะ แต่ทำไม “เงิน” ไม่พอใช้! เปิดเคล็ดลับ “วิชาใช้เงิน” ที่สำคัญไม่แพ้ วิชาหาเงิน

Date Time: 8 ก.ย. 2567 12:00 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ทำงานหนัก รายได้เยอะ แต่ก็ยังมี “เงิน” ไม่พอใช้ เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับ “วิชาใช้เงิน” เปิดเคล็ดลับ การวางแผนทางการเงิน และ บ่มเพาะวินัยการเก็บออมที่ดี ด้วยทฤษฎีกระปุกเงิน การแบ่งเงินใช้ตามสัดส่วน และ เหลือเพื่อการลงทุน ปูทางสร้างความมั่งคงระยะยาว

“คนไทยติดหรู 54% มีเงินเดือนไม่ถึง 50,000 บาท แต่ยอมซื้อสินค้าแบรนด์เนม เพราะอยากให้รางวัลตัวเอง และอยากดูลักชัวรี เป็นที่ยอมรับของสังคม”

นี่คือข่าวเด่น สะท้อนความเป็นคนไทย ผ่านผลวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ล่าสุดที่เปิดเผยว่า การใช้เงินแบบ “ใจถึง” ของคนไทยจำนวนไม่น้อย ได้กลายเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าหรูแบรนด์ต่างๆ ในยุคปัจจุบัน จากการที่ผู้คนยอมจ่าย แม้จะแพงเกินจริง แต่เพื่อภาพลักษณ์ ฉันยอมแลก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ชวนคิดต่อ คือ แนวโน้มคนไทยที่ชื่นชอบ “สินค้าหรู” แพร่ระบาดในกลุ่มคนที่มีรายได้และเงินออมไม่สูงมากนัก จนกลายเป็นค่านิยมแบบผิดๆการกู้ยืมเงินนอกระบบผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้น ทั้งรูปแบบผ่อนไปใช้ไป หรือผ่อนครบรับของ เสี่ยงการมีหนี้สินพ้นตัว ต่อให้ทำงานหาเงินได้เยอะก็ตาม เหตุเพราะเรา “ใช้เงินไม่เป็น” นั่นเอง

เปิดเคล็ดลับ วิชาใช้เงิน (ฉบับมือใหม่หัดใช้)

แล้วการใช้เงินที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร? ข้อมูลจากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ระบุว่า วิชาต่างๆ ที่พวกเราฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กจนโต ส่วนใหญ่แล้วเป็นวิชาที่ช่วยให้เราสนุกกับการหาเงิน ทำให้เรากลายเป็นคนที่ขยันทำงานกันมากๆ เพื่อที่จะหาเงินได้เยอะๆ

แต่หลายคนกลับพบกับความจริงอันเจ็บปวดที่ว่า ทำงานหนักมีรายได้เยอะ แต่ก็ยังมีเงินไม่พอใช้ แถมบางคนยังต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพไปจนวันสุดท้ายของชีวิตจนลืมไปว่าอีกวิชาที่ผู้คนมักหลงลืม และมีความสำคัญไม่แพ้ วิชาหาเงิน นั่นก็คือ “วิชาใช้เงิน”

โดยทฤษฎีที่เปรียบเป็นการวางแผนทางการเงิน และบ่มเพาะวินัยการเก็บออม สกัดการใช้เงินเกินตัว แบ่งออกเป็น 3 ภาค ดังนี้

ภาคที่ 1: แบ่งเงินเพื่อการบริหารอย่างมีระบบ

กระปุกแห่งอนาคต

  • กระปุกฝันใกล้ สำหรับเป้าหมาย 3 – 5 ปี

" เช่น เราฝันว่าอยากจะมีเงินดาวน์รถใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า เป็นเงิน 240,000 บาท ระหว่างนี้ทุกเดือนเราก็ต้องแบ่งเงินมาใส่เตรียมไว้ในกระปุกนี้ประมาณ 6,667 บาท ต่อเดือน " 

  • กระปุกฝันไกล สำหรับเป้าหมาย 5 -10 ปีขึ้นไป

" ตัวอย่าง กระปุกฝันไกล เช่น เราฝันไว้ว่าอยากมีเงินใช้ระหว่างอายุ 60-80 ปี เดือนละ 25,000 บาท โดยไม่ต้องทำงานหาเงินแล้วหลังอายุ 60 ปี เราจึงต้องมีเงินเต็มกระปุกเป็นจำนวน 6,000,000 บาท ณ วันที่เราอายุ 60 ปี เพื่อใช้ไปอีก 20 ปี (คิดตรงๆ โดยสมมุติว่าโลกนี้ไม่มีเงินเฟ้อ) ระหว่างนี้เราก็ค่อยๆ หยอดเงินเข้ากระปุกนี้ไปเป็นประจำจนเงินเต็มกระปุก " 

กระปุกขาประจำ

  • เก็บเงินเพื่อค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่างวดรถ ค่าผ่อนบ้าน เบี้ยประกัน

" ตัวอย่างเช่น กระปุกค่างวดรถเดือนละ 5,000 บาท, กระปุกค่าผ่อนบ้าน เดือนละ 8,000 บาท, กระปุกเบี้ยประกัน ปีละ 300,000 บาท (หรือเดือนละ 25,000 บาท) หรือกระปุกค่าเทอมลูก ซึ่งกระปุกขาประจำก็คือ เงินที่เราเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่มาเป็นประจำเท่าๆ กัน ในแต่ละงวดนั่นเอง"

กระปุกขาจร

  • สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำไฟ อาหาร เดินทาง เสื้อผ้า

กระปุกฉุกเฉิน

  • ใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น จำนวนเงินที่ควรมี = (เงินในกระปุกขาจร + กระปุกขาประจำ) x 6 เดือน หากใช้ไป ควรเติมให้เต็มโดยเร็ว

ภาคที่ 2: แบ่งเงินเพื่อเก็บ ลงทุน

กระปุกแห่งอนาคต

  • ลงทุน เช่น หุ้น กองทุนรวม หุ้นกู้

กระปุกขาประจำ

  • เก็บออม เช่น ออมทรัพย์ ฝากประจำ กองทุนตลาดเงิน

กระปุกขาจร

  • ใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขในชีวิตประจำวัน หลังจัดสรรเงินในกระปุกอื่นแล้ว

ภาคที่ 3: จดให้ยับ

  • ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงิน
  • วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เงิน
  • บันทึกสม่ำเสมอและละเอียด

ทั้งนี้ การจดยับแบบละเอียดยิบ จะช่วยทำให้เราจดจำได้ว่า เรานำเงินไปใช้ซื้อความสุขอะไรบ้าง ซึ่งก็มีแอปพลิเคชันต่างๆ มากมายในมือถือ ที่ช่วยเราจดบันทึกได้อย่างรวดเร็ว และเป็นหมวดหมู่ แนะนำให้จดเมื่อจ่ายในทันทีจะได้ไม่ลืม การจดจะช่วยให้เราคิดหาแผนปฏิบัติการจู่โจม ลดเงินขี้เกียจได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ