คนไทย"แบกอยู่-แบกต่อ"เศรษฐกิจโตต่ำ รายได้เพิ่มไม่ทัน “ค่าครองชีพ” KKP แนะ เก็บออม-ลงทุน เป็นทางรอด

Personal Finance

Banking & Bond

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

คนไทย"แบกอยู่-แบกต่อ"เศรษฐกิจโตต่ำ รายได้เพิ่มไม่ทัน “ค่าครองชีพ” KKP แนะ เก็บออม-ลงทุน เป็นทางรอด

Date Time: 2 พ.ค. 2567 14:49 น.
Content Partnership

Summary

  • กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ Thairath Money สื่อการเงินและการลงทุนในเครือไทยรัฐ จึงร่วมกันจัดงาน KKP Financial Talk : Money Master #เรื่องเงินอย่างปล่อยให้รู้งี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท พร้อมกับเสวนาเรื่อง “Sandwich Generation : เดอะแบกต้องรอด” จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ คนวัยเดอะแบก และผู้ที่อนาคตต้องแบกจาก 3 วิทยากร 3 มุมคิด

คงไม่ใช่แค่ ยอดเงินคงเหลือ กับวันที่เหลืออยู่ กำลัง “ท้าทาย” การอยู่รอดของคนไทย เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่ส่อรั้งท้ายสุดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียถึง 2 ปีซ้อน ก็บ่งบอกได้ว่าเราอยู่บนความ “เปราะบาง” ทุกขณะ และอาจต้องแบกรับความเสี่ยงในหลายมิติ อย่างไม่รู้จบ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ Thairath Money สื่อการเงินและการลงทุน ในเครือไทยรัฐ จึงร่วมกันจัดงาน KKP Financial Talk : Money Master #เรื่องเงินอย่างปล่อยให้รู้งี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท พร้อมกับเสวนาเรื่อง “Sandwich Generation : เดอะแบกต้องรอด” จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ คนวัยเดอะแบก และผู้ที่อนาคตต้องแบกจาก 3 วิทยากร 3 มุมคิด

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนยุคนี้ต้องเจอกับความท้าทายอย่างมาก ในแง่การก่อร่างสร้างตัว และสร้างความมั่นคงทางการเงิน ภายใต้โครงสร้างประชากรของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และค่าครองชีพสูง ก่อเกิดนิยามใหม่ “เดอะแบก”

เดอะแบก ที่หมายถึง คนที่มีภาระค่อนข้างหนัก และเหนื่อยกับการหา “รายได้” มาให้เพียงพอกับ “รายจ่าย” ของครอบครัว ซึ่งมักเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่อยู่ระหว่าง 2 เจเนอเรชัน ซึ่งเพิ่งเริ่มสร้างครอบครัว ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลพ่อ-แม่ที่เกษียณไปพร้อมๆ กัน แบกทั้งข้างบน-ข้างล่าง ส่งผลภาระค่าใช้จ่ายผูกพันสูง ต้องจัดสรรทั้งเรื่องเงินและเวลา ในขณะที่ หน้าที่ - การงาน กดดัน จนทำให้คนไทย หลายคนเกิดภาวะความเครียดตามมา

เนื่องด้วยรายได้ต่อหัวประชากร ผูกผันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่สภาพเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน ไม่ได้เอื้อให้การหารายได้เป็นเรื่องง่ายเลย

ซ้ำเติมด้วย “ค่าครองชีพ” ที่สูง และขึ้นเร็วกว่ารายได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง ล้วนก้าวกระโดด แซงหน้าการเติบโตของ จีดีพี (การขยายตัวทางเศรษฐกิจ) ด้วยซ้ำ

“เดอะแบกยุคนี้ เหนื่อยและหนักกว่ายุคที่ผ่านมา เพราะ ภาวะเศรษฐกิจ กดรายได้โตต่ำ เพิ่มไม่ทัน รายจ่ายที่มี เทียบกับอดีต จีดีพีไทยเคยขยายตัว 7-8% แต่ปัจจุบัน 2-3% ก็ลุ้นจนเหนื่อยแล้ว”

คนไทยเป็น “หนี้เร็ว - หนี้อยู่นาน” ทำอย่างไร? ถึงรอด

หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ยังฉายภาพ “ทุกข์” ของคนไทยเพิ่มเติม ว่า นอกจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ ทำให้การหาเงินไม่ง่ายเหมือนในอดีต โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบของไทย กลายเป็นประเทศที่มีคนสูงวัยมากที่สุดในอาเซียน ทำให้รัฐ มีภาระค่าใช้จ่าย ในการดูแลสวัสดิการดังกล่าวสูงขึ้น ในขณะที่ฐานคนเสียภาษีมีน้อยลง ส่งผลคนในระบบแบกภาระมากขึ้น

“คนไทย 70 ล้านคน มีคนอยู่ในระบบงานราว 40 ล้านคน แต่อยู่ในระบบภาษีแค่ 10 ล้านคน และเหลือคนจ่ายภาษี (รายได้) จริงๆ เพียง 4 ล้านคน เท่านั้น”

จากเหตุผลข้างต้น ยิ่งทำให้ การสร้างความมั่นคงในชีวิต ผ่าน “แผนการเงิน” ที่ดี รองรับความเสี่ยงได้ เป็นเรื่องยากขึ้น หรือการที่คนคนหนึ่งจะพยายามยกระดับชีวิตและฐานะตนเอง ก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะยิ่งเศรษฐกิจชะลอตัว การก่อหนี้ส่วนบุคคลก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันสูงถึง 90% ต่อจีดีพี อยู่ในระดับอันตราย คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เพิ่งเริ่มทำงาน ก็มีหนี้ท่วม หรือยังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัย ก็มีหนี้บัตรเครดิต ติดตัว, มีปัญหาใช้จ่ายเกินตัว, หนี้อยู่นาน เกษียณแล้วยังใช้หนี้ไม่หมด ซึ่งน่ากังวลมาก

อีกทั้งยังพบว่า 1 ใน 4 ของคนวัย 60 ปีขึ้นไป ยังมีหนี้ติดตัว เฉลี่ยราว 400,000 บาท/คน ขณะเดียวกัน หนี้นอกระบบ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนสูงวัยไม่มีเงินออมมากพอที่จะใช้ชีวิตยามเกษียณต่อไปอีก 10-20 ปี

ปัญหาใหญ่มาจากคนไทยส่วนใหญ่มี “ความรู้ทางการเงิน” น้อย ยิ่งเศรษฐกิจมีความเสี่ยง มีวิกฤติต่างๆ เข้ามาสั่นคลอน อาชีพการงาน และเงินในกระเป๋า อย่างโควิด-19 พัวพันกับเรื่องปัญหาสุขภาพ ยิ่งตอกย้ำว่า ความพร้อมทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องยากในการวางแผนทางการเงิน แต่ ดร.ณชา แนะว่า อย่าลืมที่จะเร่งเก็บออมเงิน “ยิ่งออมเร็ว - ยิ่งดี” ขณะเดียวกัน อย่ารีรอที่จะศึกษาเรื่องการลงทุน เพราะเมื่อเราพร้อม จะกลายเป็นโอกาสได้เร็วขึ้น เพราะความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุด ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว หากแต่คือ การไม่เก็บออม ไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ต่างหาก

หยุดวงจรแบก ต้องเร่งเตรียมพร้อม “การเงิน” ให้ตัวเอง

ถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TaxBugnoms ซึ่งเป็น Influencer ด้านวางแผนภาษีและการจัดการเงิน ได้บอกเล่าแชร์เรื่องราว การเอาตัวรอด ในยุค “เดอะแบก” ว่า เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ หลายคนเผชิญกับภาวะ “เงินไม่พอจุนเจือครอบครัว และหยุดทำงานไม่ได้” แบกรับความเครียด จนเป็นซึมเศร้า

ภาระการแบก เพิ่มขึ้นตามอายุ สมการชีวิต ที่หารอย่างไรก็ไม่ลงตัว เพราะรายจ่ายครอบครัวสูงกว่า “รายรับ” บนกระแสสังคมที่ถูกกล่อมว่า ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง คือ ภารกิจชีวิต ยิ่งคนเจน Y ที่ต้องดูแลทั้งครอบครัวตัวเอง และพ่อ-แม่

อาจทำให้หลงลืมเป้าหมายชีวิตส่วนตัว และเป้าหมายทางการเงินส่วนตัว อย่างที่ควรจะเป็น เพราะในชีวิตบั้นปลาย เราอาจตกเป็นภาระของลูก-หลานตามมา เพราะการไม่เตรียมพร้อมให้กับตัวเองเช่นกัน ทำให้ “วงจรการแบก” ดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด

Taxbugnoms แนะว่า สำหรับคนที่มีภาระดูแล คนในครอบครัวหลายคน การควบคุมรายจ่ายเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่รายจ่ายส่วนตัว แต่อาจเป็นรายจ่ายที่เราพอจะ (แบก) ไหวด้วย ถ้าไม่ไหว ต้องสื่อสารกับคนในครอบครัวอย่างตรงไปตรงมา และหาจุดตรงกลางร่วมกัน อย่าติดกับดักว่าต้องให้ทุกอย่างดีที่สุด

ต่อมาให้ คำนวณรายได้ กับ รายจ่ายต่อเดือน หากไม่สอดคล้อง 1. ต้องหาเพิ่ม 2. มองหาทางรอดใหม่ๆ เพิ่มการงอกเงยของเงิน หาความรู้พอ หลายคนอายุยังน้อย อาจมองข้ามเรื่องการเตรียมตัว

สิ่งที่ต้องระวัง นอกจากไม่มีเงินแล้ว การเจ็บป่วยก็จะทำให้เงินเราหายไปได้เร็วขึ้นเช่นกัน คนที่บอกว่าไหวอยู่ ต้องมองเผื่อเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย

“สิ่งที่ต้องระวัง คนที่เป็นเดอะแบก มองทุกอย่างคือภารกิจ มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คนอื่น แล้วบอกว่าไหว เช่น ส่งลูกเรียนนานาชาติ เมื่อไม่ได้ก็จะโทษตัวเอง เรื่องเงื่อนไขการแบก ต้องชัดเจนทั้งผู้ให้และผู้รับ เพื่อไม่ทำให้ตัวเองลำบากในอนาคต เพราะแบกทุกอย่างจนล้น จนไม่เหลือเก็บ และส่งต่อการแบกให้กับลูก-หลานตามมา ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จะเป็นคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่วงจรนี้ถึงจะหยุด อย่าลืมว่า เด็กรุ่นต่อๆ ไปแค่ดูแลตัวเองก็เหนื่อยแล้ว ไหนจะความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจ สังคมอีก”

สุขภาพการเงิน เหมือนร่างกาย อยากแข็งแรงต้องมี “วินัย”

ปลื้ม-ปุริม รัตนเรืองวัฒนา นักแสดง ต้นแบบด้านการวางแผนทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ให้คำแนะนำ หลังระบุว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่รายรับของคนคนหนึ่ง อาจแบ่งเป็นรายจ่ายของใครอีกหลายคน ถ้าไม่ทันระวัง และ วางแผนทางการเงิน ให้ดีพอ “หายนะ” อาจมาเยือน

สิ่งที่คนวัยก่อน 30 ปี กำลังเผชิญอยู่ น่าจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม “เดอะ แบก” ดังนี้

1. แบกตัวเอง
2. แบกตัวเอง แบกภาระหนี้สินเดิมของพ่อแม่
3. แบกพ่อแม่ที่มีลูกช้า อายุมาก สุขภาพไม่ดี ลูก Gen Z ต้องดูแลค่ารักษาพยาบาล
4. แบกญาติพี่น้อง แทนคนรุ่นพ่อแม่

ปลื้ม กล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้น ทำให้ “คนรุ่นใหม่” ยุคนี้ตั้งตัวได้ยากกว่าคนยุคก่อนๆ ในอดีต แล้วการฝากเงินที่ได้รับดอกเบี้ย 4-5% ต่อปี อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีแล้ว เพราะปัจจุบัน ตัวเลข “เงินเฟ้อ” โตเร็วกว่า “ดอกเบี้ย” เงินฝากด้วยซ้ำ ทำให้การฝากเงินอย่างเดียวทำให้มีเงินเก็บ แต่ก็อาจเป็นเพียง “ช่วยให้จนช้าลง” เท่านั้น ดังนั้นคนรุ่นใหม่ก็ต้องหาความรู้การเงิน ความรู้การลงทุน เพื่อหาทางอยู่ให้รอด

ปลื้ม บอกด้วยว่า สุขภาพการเงิน ก็เหมือนสุขภาพร่างกาย หากอยากแข็งแรง ต้องเริ่มศึกษา-เข้าใจกลไกร่างกายของตัวเอง ก่อนลงมือทำ และต้องมีวินัย เช่นเดียวกับการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเอง เพราะเมื่อไหร่ที่เราอาจต้องเป็น “เดอะแบก” ให้ใครคนใดคนหนึ่ง จำเป็นที่ตัวเองต้องแข็งแรงก่อน

ขณะเดียวกัน ในวันที่กระแสโซเชียลยั่วยวน “คนรุ่นใหม่” มีค่านิยมทางสังคมที่ถูกเคลือบด้วย “ของมันต้องมี” สามารถเอาชนะได้ด้วยคำว่า “ประเมินตัวเอง” ถ้าไม่มีเงิน ไม่พร้อม ก็ไม่ซื้อ เพราะการที่ไหลไปตามกระแส ภายใต้ เศรษฐกิจโตช้า เฉลี่ยต่อคนมีค่าครองชีพมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน แต่รายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ อยู่แค่ 13,000 บาทเท่านั้น จะนำมาสู่ การก่อหนี้เพิ่ม อ่วมด้วยดอกเบี้ย ตามมา

ทั้งนี้ “พัทนัย เหลืองตระกูล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ในยุคที่ไทยมีความเสี่ยงทางการเงินมากขึ้น “การรู้เก็บ รู้ใช้ ลงทุนเป็น” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ที่คนไทยมี อิสรภาพทางการเงิน ก็จะนำไปสู่ ชีวิตที่มั่นคงตามมา อันจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ดังนั้น KKP ในฐานะสถาบันการเงินที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 5 ทศวรรษ จะเป็นแรงสนับสนุนพัฒนาการในด้านนี้ต่อไป ผ่านการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านการเงินการลงทุนที่เป็นหัวใจของธุรกิจมาสร้างทักษะทางการเงินให้แก่ผู้คนในสังคม


Author

Content Partnership

Content Partnership