ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ ที่น่ากังวล สะท้อนพิษภัย ของมิจฉาชีพยุคใหม่ หลังปรากฏข่าว อดีตแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายหนึ่ง ออกมาแฉ กลโกง วิธีหลอกโอนเงิน ของผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพียงแค่คุยกับเหยื่อแค่ 2 นาที รู้อีกที เงินหายเกลี้ยงบัญชี โดยใช้สารพัดวิธีการ พูดคุยกับผู้เสียหาย เพื่อหลอกให้ยืนยัน ชื่อ-สกุล เลขบัตรประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด เรื่อยไปจนถึง บ้านเลขที่ และ เลขบัญชีธนาคาร ก่อน ส่งเสียงให้เจ้าหน้าที่ คนจีนอีกราย ใช้เครื่องดูดเงิน หรือ ทำการแฮกเงิน ออกจากบัญชีธนาคารของเหยื่อจนหมดเกลี้ยงแบบไม่รู้ตัว
อีกทั้ง อดีตมิจฉาชีพ คนดังกล่าว ยังให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา คนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ มักเป็นข้าราชการระดับสูง บ้างเป็นข้าราชการวัยเกษียณ และ นักธุรกิจ โดยสุ่มเลือก คนที่มีเงินอยู่ในบัญชี ราว 2 ล้านบาทขึ้นไป เท่านั้น ซึ่งรายชื่อดังกล่าว ก็ได้มาจาก การซื้อมาจากธนาคารของรัฐ อีกทอด
ซึ่งข้อมูลข้างต้น เรียกว่า สร้างความหวาดผวาให้กับคนไทยโดยทั่วไป พร้อมกับตั้งคำถาม ว่า เป็นจริงหรือไม่? ที่เพียงเพราะเราพูดคุยโทรศัพท์กับคนแปลกหน้า แค่ 2 นาที ทำให้เงินหายได้
ล่าสุด TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ออกมาชี้แจง “ข่าวแก๊งดูดเงิน“ โดยยืนยัน ว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีระบบที่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงินได้ พร้อมกับใจความสำคัญ ดังนี้
ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ขอชี้แจงกรณีที่มีข่าวการดูดเงินเพียงการโทรพูดคุย 2 นาที โดยไม่ต้องกดลิงก์ว่า ปัจจุบันธนาคารไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและยังไม่พบเหตุการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก
ระบบของธนาคารมีการป้องกันและพัฒนาการพิสูจน์ยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการให้ยืนยันตัวตนผ่านการสแกนหน้า ควบคู่กับข้อมูลส่วนบุคคล และรวมถึงการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรม นอกจากนี้ TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย
รวมถึงธนาคารสมาชิก ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) ของลูกค้าทุกคน พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการธนาคาร และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและประชาชน อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องพึงระวัง
ทั้งนี้ หากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หรือมีข้อสงสัย ขอให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งานทันที หรือ ติดต่อ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรม โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
ที่มา : สมาคมธนาคารไทย