BKI ไปต่อโกยกำไรทุบสถิติ ชี้ประกันรถอีวีแข่งดุดาหน้าหั่นเบี้ยชิงเค้ก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

BKI ไปต่อโกยกำไรทุบสถิติ ชี้ประกันรถอีวีแข่งดุดาหน้าหั่นเบี้ยชิงเค้ก

Date Time: 4 ม.ค. 2567 07:06 น.

Summary

  • กรุงเทพประกันภัยโชว์ปี 66 ทำกำไรนิวไฮในรอบ 76 ปี นับจากเปิดดำเนินการ ปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรับโต อีก 8 % มีกำไรมากกว่า 3 พันล้าน แต่ห่วงเศรษฐกิจเปราะบาง ตลาดลงทุนผันผวน พร้อมชี้ตลาดประกันภัยรถยนต์อีวี แข่งเดือดแห่หั่นเบี้ยประกันจนต่ำเกินมาตรฐาน สวนทางค่าเคลมพุ่งพรวด

Latest

แบงก์รัฐระดมช่วยคนน้ำท่วม พักต้น-ลดดอก-เลื่อนชำระหนี้

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า ในปีนี้เศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน และมีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นทิศทางดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และการลงทุนของภาครัฐ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของไทยทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.7-3.8% จากปีที่ผ่านมาขยายตัว 2.4-2.5%

สำหรับตลาดประกันภัยในปีนี้ ยังมีหลายปัจจัยเข้ามาส่งผลกระทบ ได้แก่ โครงการลงทุนของภาครัฐที่เลื่อนออกไป ส่งผลให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐชะลอออกไปด้วย ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินในสัดส่วน 20% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินค้าเอสเอ็มอีขายได้ยาก เนื่องจากมีสินค้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดเยอะมาก และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์

สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทกรุงเทพประกันภัยในปีนี้ ได้ตั้งเป้าหมายมีเบี้ยรับรวมเติบโต 8% หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท หรือมีเบี้ยรับรวมขึ้นมาอยู่ที่ 32,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะมีเบี้ยรับรวม 30,000 ล้านบาท และมีกำไรมากกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาบริษัทมีเบี้ยรับรวม 21,982 ล้านบาท เติบโต 12.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีกำไร 2,546 ล้านบาท นับว่ามีกำไรสูงสุดทำสถิติตั้งแต่บริษัทเปิดดำเนินการมา 76 ปี

“ปีนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และค่อนข้างเปราะบาง ถ้าธุรกิจของเราโตได้ 8 % ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยโตได้ 3.7-3.8%”

ในส่วนของการบริหารพอร์ตการลงทุน ในสภาวะที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เงินทุนไหลออกต่อเนื่อง บริษัทได้ขายหุ้นที่เข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ บางส่วนออกไปเพื่อทำกำไร อีกทั้งปรับพอร์ตย้ายเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสอดรับกับทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยตลอดปี 2566 คาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ 2.5-3% ส่วนปีนี้คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะใกล้เคียงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นยังมีความผันผวน และมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก

“กลยุทธ์การบริหารพอร์ตลงทุนที่สำคัญคือ การขายหุ้นที่มีกำไรออกไป และรอจังหวะที่ดีเพื่อกลับเข้าไปซื้อหุ้นอีกรอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้โยกเงินฝากประมาณ 3,000 ล้านบาท ไปลงพันธบัตรรัฐบาล เพื่อรับดอกเบี้ยที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้เงินฝากคงเหลือไว้ที่ 6,000 ล้านบาท”

ตลาดประกันภัยรถอีวีแข่งเดือด

นายอภิสิทธิ์ยังได้กล่าวต่อถึงภาพประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี 2566 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบจากปี 2565 เนื่องจากความนิยมของคนไทย และการส่งเสริมจากภาครัฐ ทำให้ยอดปี 2566 มีรถอีวีจดทะเบียน 100,000 คัน จากปี 2565 มียอดจดทะเบียนเพียง 10,000 คัน และเชื่อว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์อีวีจะมีการเติบโตต่อเนื่อง จากการเข้ามาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย ทำให้แนวโน้มรถยนต์อีวีจะออกสู่ตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคประกันภัยของไทย มีการแข่งขันด้านราคาเบี้ยประกันภัยรถยนต์อีวีอย่างรุนแรง ส่งผลให้เบี้ยประกันรถยนต์อีวีบางประเภทและบางยี่ห้อปรับตัวต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งอนาคตอาจส่งผลให้อัตราความเสียหายหรือเคลมสินไหม (Loss Ratio) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการขาดทุนจากการรับประกันรถประเภทนี้ได้ และบริษัทได้ตัดสินใจกระโดดเข้าไปแข่งขันราคาในตลาดรถอีวี อีกทั้งเมื่อบริษัทรถยนต์อีวีทำแคมเปญแจกฟรีประกันภัยชั้น 1 ในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งบริษัทไม่ได้เข้าร่วมรับประกันภัยในแคมเปญดังกล่าว

“มีผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยหลายบริษัทมองเห็นโอกาสเข้ามาทำตลาด เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด มีการเสนอเบี้ยประกันรถ BYD ปีละ 20,000 กว่าบาท ใกล้เคียงหรือต่ำกว่ารถยนต์สันดาป แต่ความเสี่ยงของรถยนต์อีวีอยู่ที่แบตเตอรีที่มีมูลค่า 50-60% ของราคารถ หรือคิดเป็น Loss Ratio ถึง 60-70% ขณะที่ราคาขายซากรถเท่ากับศูนย์ต่างกับรถยนต์สันดาปที่สามารถแยกชิ้นส่วนออกมาขายได้ นอกจากนี้ รถยนต์อีวีไม่มีการซ่อมอู่ทั่วไป ต้องซ่อมศูนย์บริการทั้งหมด ซึ่งมีค่าอะไหล่ และค่าแรงที่สูง”

เคลมสินไหมพุ่งส่อแววขาดทุน

นอกจากนี้ ข้อมูลการรับประกันภัยรถยนต์อีวีเทียบกับรถสันดาปในตลาดโลกพบว่า ญี่ปุ่นคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์อีวีอัตราสูงกว่าเบี้ยประกันรถสันดาป 10-20% และในสหรัฐฯคิดค่าเบี้ยสูงกว่า 25% แต่ในประเทศไทยเบี้ยรถอีวีจะต่ำกว่าเบี้ยรถสันดาปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราความเสียหายหรือเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวี ทุกบริษัทมองว่าอยู่ได้ เพราะปีแรกๆแค่ระดับ 10-15%  เนื่องจากผู้ใช้รถอีวีใช้เดินทางเฉพาะในเมือง เนื่องจากในต่างจังหวัดมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าน้อยมาก พอระยะเวลาผ่านไป 2 ปี สถานีอัดประจุไฟฟ้าขยายตัวเริ่มเปิดให้บริการในต่างจังหวัด อัตราการเคลมสินไหม (Loss Ratio) กระโดดขึ้นมาเป็น 40% และในปี 2566 ได้ปรับขึ้นไปเกือบ 60% แล้ว และอัตราการเคลมขยับไปถึงระดับ 75-80% ผู้รับประกันภัยจะประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากการรับประกันภัยต้องจ่ายค่าคอมมิชชันอีก 18%.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ