สถิติเงินฝาก ณ สิ้นเดือน ส.ค. 66 พบว่าจำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวน 93.46 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% ขณะที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท ลดลง 1.32% ซึ่งเกิดจากปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจ
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า จากสถิติเงินฝากตั้งแต่ปี 2562 - ส.ค. 2566 พบว่า ถึงแม้จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท จะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในเดือน ส.ค. 2566 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.45% แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 ติดลบ 0.63% และในเดือน ส.ค. 2566 ติดลบ 3.61%
ในขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนัก จึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้
หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ของโลก ต่างกำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน
จากรายงานข้อมูลสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่ามีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 212,688 ล้านบาท หรือลดลง 1.32% ซึ่งนับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี สืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนสูง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อที่ยังเติบโตในกรอบต่ำ
ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37%
ทั้งนี้ ในจำนวน 93.46 ล้านราย เป็นคนที่มีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท/คน/ราย/ธนาคาร มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากถึง 81 ล้านราย โดยเกินกว่า 80% ของจำนวนผู้มีเงินฝากทั้งหมด ซึ่งโดยเฉลี่ยพบว่าส่วนใหญ่มีเฉลี่ยในบัญชีไม่ถึง 5,000 บาทต่อราย เนื่องจากการออมมีไม่เยอะ ค่าครองชีพสูงขึ้น รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนไป จากการมี “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” ซึ่งถือเป็นการ “ก่อหนี้” ที่จะนำไปสู่กำลังซื้อ หรือความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคตลดน้อยลง
ส่วนคนที่มีเงินเยอะจำนวนรายเริ่มน้อยลง และจำนวนเงินเริ่มน้อยลงเช่นกัน จึงสรุปได้ว่า ไทยมีคนที่มีเงินในกระเป๋าน้อยเป็นจำนวนมาก โดยจำนวนเงินทั้งหมดของกลุ่มที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 50,000 บาท เมื่อนำเงินทั้งหมดมารวมกันในปี 2565 อยู่ที่ 360,000 ล้านบาท และในปี 2566 ลดลงอยู่ที่ 348,000 ล้านบาท
ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ประเมินว่า ปี 2566 จำนวนเงินฝากมีการลดลง แต่กลับมีจำนวนผู้ฝากเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่กลุ่มที่มีเงินฝากจะเป็นคนที่มีอายุ 50-60 ปี ซึ่งในส่วนของจำนวนเงินฝากที่ลดลงจะมาจากหลายสาเหตุ อาทิ ผู้ฝากหันไปลงทุนในตราสารหนี้ หรือโลหะมีค่า หรือในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูง และบางส่วนเกิดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การใช้จ่ายจึงจำเป็นต้องใช้เงิน ในส่วนของเงินฝากจะมีการลดลงในส่วนที่มีเงินน้อยกว่า 50,000 บาท ที่เป็นกลุ่มหลัก ฉะนั้นการที่มีตัวเลขติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ส่วนตัวเลขการฝากเงิน หรือการหดตัวของเงินฝากในปีนี้ นับเป็นภาวะชั่วคราวและคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า