นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการนำระบบดิจิทัลมาใช้ การดูแลความยั่งยืนโดย เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการเงิน โดย Digital 2021 Global Overview Report พบว่าคนไทยใช้ mobile banking เป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่โอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สูงเป็น อันดับ 4 ของโลก และใน 5 ปีที่ผ่านมา บัญชี internet และ mobile banking เพิ่มจาก 36 ล้านบัญชี เป็น 121 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว การโอนเงินผ่าน internet และ mobile banking เพิ่มจาก 800 ล้านรายการ เป็น 14,400 ล้านรายการ หรือเพิ่มขึ้น 18 เท่า สาขาธนาคารพาณิชย์ลดลง 1,400 สาขา การเติบโตสินเชื่อทั่วโลกของ FinTech เพิ่มขึ้น 500% และเพิ่มขึ้น 4,000% หากเป็นสินเชื่อทั่วโลกของ BigTech
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง ธปท. จึงได้จัดทำร่างแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper) ฉบับล่าสุด เพื่อสื่อสารหลักการและทิศทางที่ ธปท. อยากเห็นบนพื้นฐานความสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยง โดย ธปท.จะกำกับดูแลความเสี่ยงแบบยืดหยุ่น ในลักษณะเข้ม หากเสี่ยงมาก ผ่อนปรนลงได้ หากไม่เสี่ยงมาก หรือหากความเสี่ยงเป็นลักษณะไม่แน่นอน ไม่ชัด หรือยังไม่รู้ ต้องมีราวกั้น “guard rail” เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.สาย นโยบายการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เปิดรับฟังความเห็นเริ่มตั้งแต่วันนี้-28 ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อปรับเกณฑ์การกำกับดูแลภายในกลางปีนี้ หมายความว่าร่างดังกล่าวยังเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกฝ่าย โดยมีทิศทางสำคัญ 3 ด้าน ด้านที่ 1.การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล เช่น การเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) ด้านที่ 2.การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน ช่วยให้ภาคครัวเรือนอยู่รอดในโลกใหม่ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และด้านที่ 3.ปรับการกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ แทนการเน้นเสถียรภาพทางการเงินอย่างเดียว ให้ความคิดเห็นได้ ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th/landscape