ธปท.จับมือสมาคมธนาคารไทย จ่อออกเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้แบบใหม่ ที่ช่วยลูกหนี้รอดตายระยะยาว แทนการเลื่อนชำระหนี้ออกไปเรื่อยๆ ด้านสมาคมธนาคารยันพร้อมดำเนินการ แต่ขอเวลากำหนดรูปแบบการปรับโครงสร้างหนี้ (Product Program) ที่เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละกลุ่มอีกระยะ ขณะที่ 3 ก.ย.64 มาตรการช่วยลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลมีผลแล้ว ทั้งขยายเพดานวงเงินกู้ 2 เท่าของเงินเดือน ผ่อนขั้นต่ำแค่ 5% ยาวไปถึงสิ้นปี 65 ส่วนเอสเอ็มอีได้สินเชื่อใหม่มาฟื้นฟูกิจการง่ายขึ้น–มากขึ้น
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีต่อเนื่อง ทั้งมาตรการเพื่อการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการให้สินเชื่อใหม่ในการฟื้นฟูกิจการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และความซบเซาของเศรษฐกิจ แต่พบว่ายังมีลูกหนี้หลายกลุ่มที่มีปัญหาในการแก้ไขหนี้
ขณะที่มีลูกหนี้ส่วนหนึ่งใช้วิธีแก้หนี้ด้วยการเลื่อนการชำระหนี้ออกไปเท่านั้น ซึ่งไม่ช่วยให้กลับมาชำระหนี้ได้ แต่จะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังมีลูกหนี้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ดังนั้น ล่าสุด ธปท.จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อดิจิทัล มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ก.ย.64 จนถึงสิ้นปี 65 ดังนี้ 1.ขยายเพดานวงเงินกู้เป็น 2 เท่าของเงินเดือน จากเดิม 1.5 เท่า สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กรณีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท นอกจากนี้ ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 3 แห่ง 2.คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ถูกปรับลดลงในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้าเหลือ 5 % ต่อไปจนถึงสิ้นปี 65 3.ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายเวลาการชำระคืนจากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน
ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี จะเริ่มให้เกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูใหม่ที่ช่วยให้เอสเอ็มอีได้วงเงินสินเชื่อง่ายขึ้น และสูงขึ้นจากเดิมมาก เช่น ขยายวงเงินสินเชื่อให้ SMEs รายใหม่ เพิ่มเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท และ SMEs รายเดิม จากเดิมไม่เกิน 30 %ของวงเงิน เปลี่ยนเป็น 30% ของวงเงินสินเชื่อคงเหลือ หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท 2.เพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท. ตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ตั้งแต่ 6 ก.ย.64
นายรณดล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ ธปท.ต้องการเห็นคือการแก้หนี้อย่างยั่งยืน จึงได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย ให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว แทนการเลื่อนชำระหนี้ออกไป โดยขอให้มีการออกแบบเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ (Product Program) ที่เหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มธุรกิจ หรือในแต่ละรายอย่างแท้จริง เพื่อกำหนดการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ที่เป็นไปได้จริงตามฐานะการเงินในขณะนี้ และในอนาคต เช่น ในช่วงแรกจ่ายแบบหน้าต่ำให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา รวมทั้ง อาจปรับระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป 3 ปี 5 ปี รวมทั้งลดดอกเบี้ย หรืออื่นๆ ตามความจำเป็นของลูกหนี้รายนั้นๆ รวมทั้งลดขั้นตอนด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการรับส่งเอกสาร และเจรจาเพื่อให้สามารถเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและเร็วกว่าที่เป็นอยู่
โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ และการกันเงินสำรองหนี้ที่เกี่ยวข้องตามความเข้มข้นของความช่วยเหลือ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับธนาคารพาณิชย์แล้ว ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ธปท.มองว่า จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ เร่งออกเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ของแต่ละธนาคารออกมาได้โดยเร็ว โดยไม่ต้องรอให้กำหนดการพักหนี้ที่เลื่อนออกไปสิ้นสุดลงก่อน และ ธปท.ขอให้สถาบันการเงินรายงานความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนการแก้หนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาวให้ทราบเป็นระยะๆ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีตามมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. ทั้งในเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องหรือแนวทางการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้แก้ปัญหาหนี้ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน เมื่อสถาบันการเงินรับทราบรายละเอียดของมาตรการต่างๆที่ ธปท.ประกาศออกมาแล้ว สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกหนี้ และติดตามดูแลช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิดในแต่ละราย เช่น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มร้านอาหาร หรือกลุ่มอื่นๆที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะเดียวกัน ยังจะแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมด้วย เพื่อให้ธนาคารยังเป็นกลไกสำคัญและมีกำลังไปช่วยลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป.