ลงทุน “หุ้น” ผ่าน กองทุนหุ้นไทย (2)

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลงทุน “หุ้น” ผ่าน กองทุนหุ้นไทย (2)

Date Time: 2 ก.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • มาทำความรู้จักกับกองทุนรวมหุ้นอีก 2 ประเภท คือ “กองทุนหุ้นใหญ่” (Equity Large Cap) ที่เน้นลงทุนในหุ้นใหญ่ที่อยู่ในดัชนี SET50 เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาโอกาสลงทุนในหุ้นบริษัทชั้นนำ

Latest

ยกระดับสู่องค์กรดิจิทัล เคทีซีตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปีหน้าขยายตัว 4-5%


สัปดาห์ที่แล้ว “คุณนายพารวย” พาไปทำความรู้จักกับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ตามข้อมูลจากบทความในเว็บไซต์ https://www.setinvestnow.com  เรื่อง “ลงทุนหุ้น ผ่านกองทุนหุ้นไทย ผลตอบแทนก็ปังได้ไม่แพ้หุ้นโลก” ที่เราจัดกองทุนหุ้นไทยเป็น 3 ประเภทหลัก คือ กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก, กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ และกองทุนหุ้นทั่วไป ซึ่งคราวที่แล้วได้รู้จักกับกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กไปแล้วว่าคือ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเล็กที่มีมูลค่ามาร์เกตแคปไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) โดยการลงทุนในหุ้นเล็ก จากสถิติมักมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นใหญ่ โดยจากสถิติย้อนหลัง 5 ปีพบว่ากองทุนในหุ้นเล็กให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 7.64% ต่อปี

สัปดาห์นี้ เรามาทำความรู้จักกับกองทุนรวมหุ้นอีก 2 ประเภท คือ “กองทุนหุ้นใหญ่” (Equity Large Cap) ที่เน้นลงทุนในหุ้นใหญ่ที่อยู่ในดัชนี SET50 เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาโอกาสลงทุนในหุ้นบริษัทชั้นนำของประเทศในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ถือเป็นหุ้นที่มีความมั่นคงสูงหรือเรียกภาษาชาวหุ้นว่า เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี

ซึ่งกองทุนหุ้นใหญ่จากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 6.08% ต่อปี (ข้อมูล ณ 31 มี.ค.64 จาก มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)) แม้ผลตอบแทนจะต่ำกว่ากองทุนรวมหุ้นเล็ก แต่ความเสี่ยงในการลงทุนก็มักจะต่ำกว่า
กองทุนรวมอีกประเภทคือ “กองทุนหุ้นทั่วไป” (Equity General) ถือเป็นกองทุนหุ้นไทยที่ บลจ.ต่างๆนำเสนอออกมามากที่สุด เพราะมีความยืดหยุ่นของนโยบายการลงทุนสูง สามารถลงทุนหุ้นได้ทุกประเภท ทุกขนาด ทุกตลาดโดย ‘ไม่มีข้อจำกัด’ ทำให้มีโอกาสเลือกหุ้นที่หลากหลาย โดยพบว่า ผลตอบแทนของกองทุนกลุ่มนี้ เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ 5.95% ต่อปี (ข้อมูล ณ 31 มี.ค.64 จาก มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย))

นอกจากกองทุนรวมหุ้นไทยทั้ง 3 ประเภทนี้แล้ว ยังมีกองทุนรวมหุ้นกลุ่ม “กองทุนดัชนี SET 50” ที่เป็น “กองทุนรวมดัชนี” (Index Fund) และ “กองทุนรวมอีทีเอฟ” (ETF) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อัตราผลตอบแทนของกองทุนใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนของดัชนี SET50 มากที่สุด มุ่งสร้างผลตอบแทนเกาะไปกับดัชนีที่ใช้เทียบวัด เป็นกองที่น่าสนใจ สำหรับมือใหม่ เนื่องจากเข้าใจง่ายและค่าธรรมเนียมต่ำ

และยังมี “กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund)” ซึ่งเป็นกองทุนที่มุ่งลงทุนเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ของกองทุน เช่น กลุ่มพลังงาน, กลุ่มสุขภาพ, กลุ่มธนาคาร หรือกลุ่มสื่อสาร เป็นต้น โดย Sector Fund นี้ จะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า “กองทุนหุ้น” ปกติ เพราะลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เพียงอุตสาหกรรมเดียวเป็นสัดส่วนสูงมากนั่นเอง จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีความเข้าใจการลงทุนในหุ้นดีและสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่า

สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนหุ้นไทยทั้งหมดนี้ มี 2 รูปแบบ คือ

1.กำไรจากการขายหน่วย (Capital Gain) นั่นคือ กำไรที่เกิดจากการขายหน่วยลงทุนในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา โดยกำไรส่วนนี้ “ไม่เสียภาษี”

2.ผลตอบแทนจาก “เงินปันผล” กองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล จะนำผลตอบแทนจากการลงทุนมาจ่ายคืนในรูป “เงินปันผล” แต่เงินปันผลที่ได้รับต้อง “เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 10%”

ดังนั้น การเลือกกองทุน “ปันผล” หรือ “ไม่ปันผล” จึงขึ้นกับความต้องการกระแสเงินสด บางคนอาจต้องการเงินก้อนโตที่ปลายทางการลงทุน ขณะที่บางคนอยากได้กระแสเงินสดระหว่างทางที่ลงทุนเพื่อความอุ่นใจ สุดท้ายอยู่ที่เราว่าจะ “ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม” เพื่อนำไปสู่เป้าหมายความมั่งคั่งของเราอย่างไร!!

คุณนายพารวย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ