คลังหารือ ธปท.รื้อซอฟต์โลน 3 แสนล้าน ให้รายใหญ่เข้าถึงเงินกู้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังหารือ ธปท.รื้อซอฟต์โลน 3 แสนล้าน ให้รายใหญ่เข้าถึงเงินกู้

Date Time: 4 มี.ค. 2564 07:55 น.

Summary

  • “คลัง” ถก ธปท. รื้อเกณฑ์การใช้เงินตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เปิดโอกาสให้รายใหญ่เข้าถึงเงินกู้ด้วย และเปิดโครงการโกดังพักหนี้ ส่วนกลุ่มไร้สมาร์ทโฟน 5 แสนราย รอรับเงินวันที่5 มี.ค.นี้

Latest

3 ข้อต้องรู้ก่อนวางแผนมรดก  ส่งต่อความมั่นคง ให้ลูกหลานอย่างราบรื่น

“คลัง” ถก ธปท. รื้อเกณฑ์การใช้เงินตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เปิดโอกาสให้รายใหญ่เข้าถึงเงินกู้ด้วย และเปิดโครงการโกดังพักหนี้ ส่วนกลุ่มไร้สมาร์ทโฟน 5 แสนราย รอรับเงินวันที่5 มี.ค.นี้ส่วนที่เหลือทยอยตรวจสอบคุณสมบัติ และโอนเงินในสัปดาห์ถัดไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ“ทิศทางฟื้นเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด 2564” ว่า ได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อปรับเกณฑ์การใช้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)ที่เหลือกว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อให้เอกชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ โดยจะแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะยังคงเป็นรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ปรับเงื่อนไขใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมกำหนดให้เฉพาะเอสเอ็มอีเท่านั้น ปรับเพิ่มเป็นให้ธุรกิจรายใหญ่ สามารถเข้ามายื่นขอกู้ได้ รวมถึงจะมีการขยายวงเงินกู้ต่อรายจากเดิม20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึงอัตราดอกเบี้ย จากเดิม 2% เปลี่ยนเป็นตั้งแต่ 2% ขึ้นไป เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนที่สอง จะนำมาจัดทำโครงการโกดังพักหนี้ (Asset Ware Housing) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ ให้สามารถนำทรัพย์สินมาขายฝากกับสถาบันการเงินได้ และในระหว่างนั้นสามารถจ่ายค่าเช่ากับธนาคาร สามารถประกอบกิจการต่อไป และเมื่อระยะเวลาหนึ่งสามารถกลับมาซื้อคืนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยรัฐบาลพร้อมจะแก้ไขกฎระเบียบและเรื่องการยกเว้นภาษี เพื่อช่วยเหลือให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยกรณีธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นผู้บริหารจัดการเอง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้

“การปรับปรุง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนนี้ต้องมีการจัดทำเป็น พ.ร.ก.ฉบับใหม่ขึ้นใช้ทดแทนฉบับเดิม อยู่ระหว่างหารือกับ ธปท.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะแบ่งวงเงินการใช้จำนวนเท่าใด ส่วนเรื่องโครงการโกดังพักหนี้เท่าที่ทราบ ธปท.หารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อกำหนดกติกา การตีมูลค่าทรัพย์สิน”

นายอาคมกล่าวว่า ในเร็วๆนี้จะหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อหาแนวทางการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเข้ามาในประเทศไทยได้ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ หลังเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ จากเดิมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทย 8 ล้านคน แต่ต่อมาปรับลงอีกเหลือ5 ล้านคน ล่าสุดก็ไม่รู้จะเหลือจำนวนนักท่องเที่ยวเท่าใด

“อย่างไรก็ตาม ปีนี้ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก มาตรการต่างๆต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ 2.8% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่น่าพอใจ เนื่องจากยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพที่มีอยู่ โดยปีนี้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น เช่นคนละครึ่ง เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน และอื่นๆโดยเฉพาะเราชนะ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-จนถึงปัจจุบัน มีการใช้จ่ายผ่านโครงการเราชนะ 60% ใช้จ่ายในเมืองรอง ส่วนที่เหลือใช้จ่ายในเมืองหลัก ถือเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับฐานรากให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ”

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ณ วันที่ 3 มี.ค.2564 มีผู้ใช้สิทธิโครงการเราชนะแล้ว 30.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 70,724.1 ล้านบาท แบ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน มีการใช้จ่ายตั้งแต่ 5 ก.พ.-ปัจจุบันกว่า 33,561.60 ล้านบาท ส่วนผู้ที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.comจำนวนมากกว่า 16.3 ล้านคน และมีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่18 กว่า 37,162.5 ล้านบาท ส่วนกลุ่มไร้สมาร์ทโฟนและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ลงทะเบียนเราชนะ ผ่านการคัดกรองแล้ว และจะได้รับเงินในวันที่5 มี.ค.นี้ 500,000 คน จากผู้ลงทะเบียน2 ล้านคน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ