นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้วางแผนแก้หนี้ข้าราชการที่มีอยู่หนี้อยู่ถึง 577,900 ล้านบาท จำนวน 1.11 ล้านราย โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น บุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ครู จำนวน 62% ข้าราชการทั่วไป 30% ตำรวจ 5% และทหาร 3% โดยแนวทางที่ใช้แก้ไขปัญหาเบื้องต้น คือ การใช้แหล่งเงินอื่นในการชำระหนี้ เช่น เงินบำนาญ เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) หรือ เงินบำเหน็จตกทอด เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อนำมาปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งจากมาตรการแก้ไขหนี้จากรัฐบาลและต้นสังกัด
นายวิทัยยังเปิดเผยว่า การที่ธนาคารออมสินตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจนอน แบงก์ (Non bank) หรือ ผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินนั้น เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ และมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของลูกค้ากลุ่มฐานราก โดยการปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในปัจจุบัน ที่ดอกเบี้ยสูงถึง 24-28% ต่อปี โดยตั้งเป้าจะลดดอกเบี้ยในระบบให้ลดลงได้ 8-10% ต่อปี ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในระบบนอนแบงก์เหลือประมาณ14-16% ต่อปี โดยประเทศไทยมีลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ทั้งระบบจำนวน 25.38 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 481,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของมูลหนี้ทั้งหมด สินเชื่อบัตรเครดิต 148,000 ล้านบาท คิดเป็น 31% ของมูลหนี้ทั้งหมด และสินเชื่อบุคคลบัตรกดเงินสด 233,000 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของมูลหนี้ทั้งหมด “ที่ออมสินตัดสินใจรุกตลาดนอนแบงก์ที่มีกลุ่มลูกค้ารายได้น้อยไปใช้บริการค่อนข้างมากนั้น เนื่องจากเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีรายได้น้อย ที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยในอัตราสูง ซึ่งหากออมสินทำให้ดอกเบี้ยทั้งระบบของนอนแบงก์ไหลต่ำลงได้ จะช่วยผู้มีรายได้น้อยได้จำนวนมาก“
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินจะเร่งพัฒนาแอปพลิเคชัน MyMo ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 10 ล้านราย ทั้งเรื่องหน้าตาของแอปฯ และบริการให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่(นิว นอร์มอล) เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องเดินทางมาธนาคารสามารถใช้บริการผ่านแอปได้เลย เช่น บริการปรับโครงสร้างหน การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending หรือสินเชื่อออนไลน์ การเปิดบัญชีเงินฝาก (e-KYC) การชำระเงินผ่อนดาวน์ทรัพย์ NPA และการชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น.