ไทยยังไม่หลุดกับดักความจน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยยังไม่หลุดกับดักความจน

Date Time: 2 มี.ค. 2562 05:15 น.

Summary

  • สศช.ชี้คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลง ส่วนทุนมนุษย์มีประสิทธิภาพการทำงานแค่ 60% เหตุคุณภาพการศึกษาไทยลดลง ทำให้ต้องปรับปรุง ส่วนสุขภาพก็มีอัตราการเสียชีวิตสูงในช่วงอายุ 15–60 ปี

Latest

9 แบงก์กำไรสิริรวม 2 แสนล้าน กสิกรโต 14% กรุงเทพ 8% เอสซีบี 1%

27 ล้านคนรายได้ต่ำเดือนละ 5,346 บาทต่อคน

สศช.ชี้คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีลดลง ส่วนทุนมนุษย์มีประสิทธิภาพการทำงานแค่ 60% เหตุคุณภาพการศึกษาไทยลดลง ทำให้ต้องปรับปรุง ส่วนสุขภาพก็มีอัตราการเสียชีวิตสูงในช่วงอายุ 15–60 ปี หรือวันละ 60 คน เนื่องจากอุบัติเหตุและโรคไม่ติดต่อ และคนไทย 27.1 ล้านคน ยังมีรายได้ต่ำกว่า 5,346 บาทต่อคนต่อเดือน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2561 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.56 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบเป็นรายปี พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลง จากปี 2558 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 80% ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 79% และเมื่อเข้าสู่ปี 2560 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงมาอยู่ที่ 78% และปี 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 77% และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่อันดับที่ 17 จาก 85 ประเทศทั่วโลก โดยในกลุ่มประเทศเอเชียนั้น ประเทศไทยมีสัดส่วน สินเชื่อต่อจีดีพีต่ำกว่าเกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย แต่หากคิดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส3 และไตรมาส 4 ปี 2561 พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2561 ขยายตัว 9.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ก่อนที่จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (แอลทีวี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2562 เป็นต้นไป อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการขายรถยนต์ ในงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป (Motor Expo) หลังจากจบโครงการรถยนต์คันแรกเมื่อปีที่แล้ว

นายทศพร กล่าวต่อว่า ส่วนดัชนีทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นการวัดผลรวมของทุนมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ปี โดยพิจารณาความเสี่ยงทางด้านสุขภาพและการศึกษาของประเทศพบว่าปี 2561 ประเทศ ไทยมีคะแนนรวม 0.60% จากคะแนน 1.00% อยู่ในอันดับที่ 65 จากทั้งหมด 157 ประเทศ และอยู่เป็นอันดับที่ 4 ในประเทศกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ เวียดนามและมาเลเซีย สะท้อนว่าตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ สภาพการทำงานเฉลี่ยคนไทย จนถึงอายุ 60 ปี มีเพียง 60% ของศักยภาพ

ส่วนด้านการศึกษา พบว่า เด็กไทยเข้าเรียนในระบบโรงเรียนเป็นระยะเวลา 12.4 ปีนั้น เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพการเรียนรู้ จะมีความสามารถเทียบเท่ากับการเข้าเรียนเพียง 8.6 ปี ลดลง 3.8 ปี ทำให้ระบบการศึกษาไทยต้องมีการปรับปรุง และที่สำคัญต้องเพิ่มอัตราการรอดในผู้ใหญ่ให้มากขึ้น เนื่องจากประชากรช่วงอายุระหว่าง 15-60 ปีของประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตสูง โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุ และโรคไม่ติดต่อ โดยมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 32.7 ต่อประชากร 100,000 คน หรือวันละ 60 คน

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการออกมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทำให้ประชาชนที่ยากจนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 30,000 บาทต่อปี ประมาณ 5.3 ล้านคน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการได้รับเงินค่าครองชีพ และการฝึกอบรม ซึ่งสอดคล้องกับ สศช. โดยเสนอว่า รัฐบาลควรมีมาตรการยกระดับรายได้ของประชาชนที่มีรายได้น้อย

ทั้งนี้ สศช. พบว่า ประชากรที่มีรายได้น้อยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา คิดเป็นสัดส่วน 40% หรือประมาณ 27.1 ล้านคนของจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ราว 67 ล้านคนนั้น มีรายได้ต่ำกว่า 5,346 บาทต่อคนต่อเดือน จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะความชำนาญในการประกอบอาชีพ การจัดสรรเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอย่างทั่วถึง การขยายโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ และการสนับสนุนด้านการตลาด ตลอดจนส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการด้านการเงิน เพื่อให้สามารถจัดการรายได้เงินทุนและหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ