"วิรไท" เปิดจุดยืนธนาคารกลาง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"วิรไท" เปิดจุดยืนธนาคารกลาง

Date Time: 3 ธ.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • หลังการประกาศตัวเลขการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.3% ลดลงจากครึ่งปีแรกของปีนี้...

Latest

“เงินดีดี” รุกปล่อยกู้คนฐานราก รับลูก “ออมสิน” ช่วยคนไทยลดหนี้นอกระบบ-เข้าถึงแหล่งทุน

หลังการประกาศตัวเลขการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.3% ลดลงจากครึ่งปีแรกของปีนี้ที่ขยายตัวได้สูงถึง 4.8%

นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักออกมาชี้ว่า “เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว”

ขณะที่ “อัตราดอกเบี้ย” ของไทยที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน สวนทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่กำลังเข้าสู่ช่วง “ขาขึ้น” นั้น เพิ่มความผันผวนให้กับตลาดเงินตลาดทุนกำลังเป็นความท้าทายในการตัดสินใจปรับขึ้น “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

แล้ว...จุดพลิกผันที่เราจะยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเร็วและแรงขึ้นในระยะต่อไปอยู่ที่ไหน นโยบายการเงินการคลังจะสอดประสานเพื่อรักษาแรงส่งการขยายตัวในระยะต่อไปอย่างไร การเมืองจะรับสภาพการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้หรือไม่ หรือท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร หาก “ดอกเบี้ยไทยเริ่มปรับขึ้น”

ทั้งหมดฟังคำตอบชัดๆ กับ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนี้ :

รับมือปัจจัยเสี่ยงอย่างไร ระวังภัย!เศรษฐกิจปี 62

“สงครามการค้า” และ “ความผันผวนในระบบการเงินโลก” เป็น 2 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องรับมือในปี 62

โดยผลกระทบจาก “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน” นั้น ผู้ว่าการ ธปท.มองว่า จะมีผลระยะสั้นในทางลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ในระยะยาวจะมีผลทางบวกกับประเทศไทย

“ผลกระทบทางลบโดยตรงคือ สินค้าที่เคยส่งออกได้ส่งออกไม่ได้ ซึ่งที่เห็นแล้วคือ เครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์ ที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้ยอดขายตกลงมาก ขณะที่ผลทางอ้อมคือ สินค้าไทยที่ไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของประเทศที่เป็นเป้าหมาย เช่น จีน โดยเราเห็นบางสินค้าที่ยอดสั่งซื้อจากจีนลดลงแล้ว และปีหน้าผลกระทบส่วนนี้อาจจะแรงขึ้น”

ขณะที่ผลด้านบวก จะได้จากสินค้าที่เมื่อก่อนอเมริกานำเข้าจากจีน แต่วันนี้อาจต้องนำเข้าจากที่อื่นซึ่งอาจจะเป็นประเทศไทย หรือสินค้าที่จีนเคยนำเข้าจากอเมริกา พอจีนไปตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาก็ต้องหาประเทศอื่นเช่นกัน

ส่วนอีกผลบวกที่เริ่มเห็นตัวเลขชัดเจนขึ้น คือการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจีนและผู้ผลิตในจีน ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยคิดจะไปผลิตนอกประเทศ แต่เมื่อคาดว่าสงครามการค้าจะอยู่อีกนาน ทำให้เขาตื่นขึ้น และไม่เอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว ซึ่งเท่าที่ทราบนักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยค่อนข้างมาก

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่สองจะมากับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้ง ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนในระบบการเงินโลกที่เชื่อว่าจะสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพคล่องที่ปรับลดลง จากแนวโน้มของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และธนาคารกลางอื่นที่มีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเช่นกัน

“เวลาที่ดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น จะกระทบกับประเทศที่มีหนี้สินสูง และถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ หนี้ต่อจีดีพีในขณะนี้อาจจะสูงสุดในโลก และโตเร็วมากแทบจะในทุกกลุ่มประเทศ ทั้งประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีนในช่วง 10 ปีหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ซึ่งจะส่งผลลบต่อการผิดนัดชำระหนี้ และความสามารถในการต่ออายุหนี้ รวมทั้งส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายปีหน้าจะผันผวนมากขึ้นด้วย”.

มุมมองที่แตกต่าง  “ธนาคารกลาง-รัฐบาล” จุดยืน หน้าที่และนโยบาย

ไม่ว่ายุคใดสมัยใด “การปรับขึ้นดอกเบี้ย” ถือเป็นเรื่อง “แสลงใจ” ของรัฐบาล ยิ่งในภาวะที่ดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น การประสานนโยบายการเงินกับการเมืองให้สมดุล เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ

“การดูแลภาวะเศรษฐกิจ เป็นเรื่องปกติของธนาคารกลางกับรัฐบาลที่ต้องประสานนโยบายกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่า อ่านภาวะเศรษฐกิจข้างหน้ายังไง ใครมีศักยภาพจะทำอะไร และกังวลเรื่องอะไร” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวและว่า

แน่นอนว่า อาจมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งผมเห็นว่าเรื่องสำคัญคือ ต้องเคารพความเห็นที่ไม่ตรงกัน ยิ่งในทางทฤษฎีแล้ว หากถามนักเศรษฐศาสตร์ 5 คนอาจได้คำตอบ 8 อย่าง เพราะว่าสถานการณ์ที่เผชิญเปลี่ยนตลอดเวลา และมุมมองวัตถุประสงค์ การให้น้ำหนักก็ต่างกัน โดยเฉพาะธนาคารกลางกับรัฐบาล

“ทุกประเทศเป็นแบบนี้หมด ทั้งช่วงเวลาของการมองที่ต่างกัน ธนาคารกลางโดยหน้าที่จะต้องมองยาว เวลาที่เราพูดถึงเรื่องเสถียรภาพ แต่รัฐบาลแน่นอนว่ามีรอบเวลาการทำงานการเมือง มีวัฏจักรการเมืองที่ต่างจากเรา ขณะที่แรงกดดันของประชาชนกับรัฐบาลก็แรงกว่า ต้องทำให้เกิดผลทันทีในช่วงสั้นๆ”

เมื่อออกแบบมาตั้งแต่แรกให้เป็นอย่างนี้ ต้องมีคนทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพ เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีปัญหา ในอเมริกาก็มี ประธานาธิบดี “ทรัมป์” กับ นายพาวเวลล์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองกันคนละมุม ขณะที่ในอินเดียกำลังมีปัญหาเช่นกัน ผู้ว่าการแบงก์ชาติอินเดียถูกกดดัน เพราะจะมีเลือกตั้งปีหน้า

ถ้าคิดง่ายๆ เหมือนแบงก์ชาติต้องวิ่งมาราธอน ในขณะที่รัฐบาลเขาดีไซน์อาจจะวิ่งแค่ 400 เมตร เพราะฉะนั้น การมองจะต่างกัน การใช้ทรัพยากรก็ต่างกัน การจะสะสมพลังไว้สำหรับระยะยาวก็ต่างกัน การมองผลกระทบต่างกัน รัฐบาลวิ่ง 400 เมตรแล้วพัก แต่แบงก์ชาติต้องวิ่งมาราธอน เพราะฉะนั้นจะมีประเด็นที่เห็นต่างกัน อันนี้เป็นเรื่อง “คลาสสิก” ของทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา

ผมมักถูกนักข่าวต่างชาติถามเสมอว่า เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติในรัฐบาลรัฐประหารยากไหม ผมไม่เห็นจะต่างจากผู้ว่าประเทศอื่นๆเลย เพราะเราเข้าใจว่ามุมมองที่ต่างกัน ทุกคนหวังดี รัฐบาลหวังดีอยากจะทำประโยชน์ให้ประชาชน แต่จุดที่อยากไปถึงอาจต่างกัน น้ำหนักที่ให้จึงต่างกัน

ส่วนของเรานโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงินหลักคือ เรื่องการรักษาเสถียรภาพ เพราะเรารู้ว่า การวิ่งมาราธอนถ้าสะดุดล้มตกเขาขึ้นมา เกิดวิกฤติการเงินขึ้นมามันเจ็บแรงและยาวมากกว่าจะฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ แต่ถ้ามองสั้นๆ โอกาสที่จะเจอวิกฤติน้อยมาก ความต้องการระยะสั้นจะตอบสนองจากเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเสถียรภาพ มีประชาชนมาเดินขบวน ต้องช่วยเยียวยา ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่อย่างไรก็ดี ในภาพใหญ่ผมคิดว่าไม่มีใครหลุดวัตถุประสงค์ที่อยากเห็นประเทศมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีการเติบโตเต็มศักยภาพ ความอยู่ดีกินดีของคนดีขึ้น ธปท.เองไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำตามอำเภอใจ เรามีวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากบทเรียนในหลายประเทศ รวมทั้งบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจของเราเอง เพียงแต่เราต้องเชื่อในระบบ และต้องเคารพบทบาทของแต่ละคน สุดท้ายจะต้องมีการพูดคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน.

ผู้ว่าการ ธปท.กับภาพใหญ่ ยกเครื่อง “เศรษฐกิจไทย”

กับโจทย์ใหญ่ของภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า :

“ตั้งแต่ต้นปีเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการกระจายตัวที่ดีขึ้น เริ่มเห็นการขยับของข้อต่อทางเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกไปสู่การจ้างงานใหม่ที่เต็มเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้ของ “คนไทย” ทำให้เห็นตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น แม้ในไตรมาส 3 ที่จีดีพีของไทยเติบโตเพียง 3.3% แต่ถ้าดูไส้ในการบริโภคยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนั้นเราเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น บวกกับการลงทุนเริ่มขยับ จากการที่เราพยายามตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ”

ทั้งนี้ ธปท.เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4%

“ไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจไทยดีมาก วันนี้ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเริ่มสะดุด ขณะที่ในอนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงหลายเรื่อง ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ดังนั้นมองไปข้างหน้า หากจะเร่งเครื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตดีขึ้น การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และเพิ่มขีดความสามารถถือเป็นเรื่องจำเป็น”

ที่พูดกันว่าเศรษฐกิจไทยโตดี แต่คนไทยยังไม่รู้สึกว่าดีนั้นไม่ใช่ “วาทกรรม” ถ้ามองถอยไป 3-4 ปีจีดีพีเริ่มโต แต่โตมาจากการส่งออกที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ยังไม่ได้ลงไปสู่ประชาชนฐานราก

นอกจากนั้น ในภาคเกษตรของเราตั้งแต่ยกเลิกโครงการพยุงราคาข้าว รายได้ก็ถูกกระแทกแรง เศรษฐกิจต่างจังหวัดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จึงยังไม่ฟื้น ที่สำคัญหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่ส่งเสริมให้ก่อหนี้ทั้งทางตรงและไม่ใช่ทางตรงค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน ในประเทศยังมีหลายภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ หากเราช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ตรงจุด เรายังมีโอกาสเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก โดยเฉพาะ “ผู้ประกอบการขนาดกลางหรือขนาดย่อม” หรือเอสเอ็มอี หากสามารถเพิ่มผลิตภาพของตัวเองได้ จะสร้างมูลค่าโดยรวมให้กับระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

“สิ่งที่เห็นชัดคือ ใครที่ปรับใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจได้ดี จะมีโอกาสยกระดับและไปต่อได้ ส่วนที่หลายคนมองว่า ต้นทุนทางการเงินเป็นจุดใหญ่ของเอสเอ็มอี แต่สำหรับคนที่ปรับตัวได้ ใช้เทคโนโลยี เขาจะไม่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอาการหลักคือแข่งขันไม่ได้ก็จะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆตามมา”

“การแก้ปัญหายุคต่อไป จึงต้องลงไปแก้ปัญหาในระดับจุลภาคต้องเฉพาะเจาะจง นโยบายเหวี่ยงแหอย่างที่ผ่านมามันไม่ตอบโจทย์แล้ว ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจต้องมองระยะยาว นโยบายที่เกี่ยวกับแรงงาน การเพิ่มทักษะ การเพิ่มศักยภาพแรงงาน จะเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทยในอนาคต นโยบายแรงงานจะต้องเป็นมิติเศรษฐกิจไม่ใช่นโยบายด้านสังคม ต้องมองว่ามีคนในตลาดแรงงานอีก 30 ล้านคนที่ต้องการการพัฒนาทักษะให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง”.

ตอบโจทย์ “ดอกเบี้ย” เมืองไทย 

“สมมติว่า กนง.ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในภาวะที่สภาพคล่องในระบบยังสูงมาก ไม่ได้หมายความว่าหากมีการขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะต้องปรับขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ กนง.พูดชัดเจนว่า ยังจำเป็นต้องทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป แต่แบบที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในปัจจุบันมีความจำเป็นลดลง

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ทำให้เชื่อว่าเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง เศรษฐกิจไทยจะรับการปรับขึ้นได้ โดยไม่สร้างผลกระทบแบบ shock กับระบบเศรษฐกิจ” นายวิรไทกล่าว

แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไรนั้น ผู้ว่าการ ธปท. ระบุเพียงว่า “การทำนโยบายการเงินต้องมองไปข้างหน้า และต้องมีความยืดหยุ่น เราเป็นเศรษฐกิจเล็กไม่สามารถกำหนดกรอบชัดเจนได้เหมือนประเทศใหญ่ๆ หลักการจึงเป็นการประเมินสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา (data dependent) และดูตามความเหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม วันนี้ ธปท.ยืนยันว่า “เรายังสามารถทำนโยบายการเงินที่ตอบโจทย์ภาวะเศรษฐกิจในประเทศได้ เพราะเรามีเสถียรภาพต่างประเทศที่เป็น “กันชน” จากระบบการเงินโลกได้อย่างดี โดยนโยบายการเงินให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลักคือ เงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศ”

ส่วนที่พูดกันเรื่องความสามารถการดำเนินนโยบาย (Policy space) นั้น แน่นอนว่า เราควรต้องเตรียมกระสุนไว้ใช้ แต่ก็ไม่อยากให้คนเข้าใจผิดว่า ถ้าดอกเบี้ยเริ่มขึ้นก็จะขึ้นทุกครั้ง ขึ้นต่อเนื่องเพื่อจะสะสมกระสุน

“สิ่งที่ กนง.เป็นห่วงก็คือ เสถียรภาพระบบการเงิน ดอกเบี้ยที่ต่ำ สร้างพฤติกรรมให้คนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ลงทุนโดยไม่คำนึงว่าผลตอบแทนมาจากไหน ขณะที่ระยะยาวในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนไทยควรได้ผลตอบแทนที่จูงใจให้เกิดการออม ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาเสถียรภาพใหม่ในระยะยาวได้เช่นกัน”

แม้จะยังไม่รู้ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นเมื่อไร แต่ก็มีอีกประเด็นที่ผู้ว่าการ ธปท.ตั้งใจฝากไปถึงนายแบงก์ให้รู้ไว้โดยทั่วกัน “หากช่วงต่อไป กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.ไม่ได้คาดหวังให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้น “ดอกเบี้ยเงินกู้” ตามทันที แต่คาดหวังจะเห็นถึงการปรับขึ้น “ดอกเบี้ยเงินฝาก” ก่อน โดยสิ่งแรกที่ธนาคารพาณิชย์ควรทำคือ การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ที่เคยให้อัตราต่ำพิเศษ”

สุดท้ายกับข้อถามที่ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 และนโยบายการคลังในช่วงต่อไปที่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงนั้น จะกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ต้องกลับไปพยุงเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหรือไม่ คำตอบที่ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ก็คือ

“ในช่วงที่ผ่านมา อย่างตอนที่ คสช. เข้ามาใหม่ๆ นโยบายการคลังทำหน้าที่ไม่ได้ เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามา มีประเด็นเรื่องงบประมาณ นโยบายการเงินก็ทำงานแทน มีการลดดอกเบี้ย แต่ช่วงต่อจากนี้นโยบายการเงินยังต้องทำงานหรือไม่นั้น คงยังตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา และภาวการณ์หลังการเลือกตั้งไปแล้ว”.


ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ