รัฐตั้งกองทุนช่วยคนพ้นลำบาก คงแวต 7% ต่ออีกปีลดค่าครองชีพคนไทย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐตั้งกองทุนช่วยคนพ้นลำบาก คงแวต 7% ต่ออีกปีลดค่าครองชีพคนไทย

Date Time: 4 ก.ค. 2561 08:42 น.

Summary

  • รัฐคงแวต 7% ต่อไปอีก 1 ปี ยอมเฉือนเนื้อสูญรายได้ 258,500 ล้านบาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน สร้างความ เชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจ ดันเศรษฐกิจขยายตัว

Latest

10 เทคนิค กู้เงินได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้! เงินเข้า มากกว่า เงินออก แผนธุรกิจต้องชัด

รัฐคงแวต 7% ต่อไปอีก 1 ปี ยอมเฉือนเนื้อสูญรายได้ 258,500 ล้านบาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน สร้างความ เชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจ ดันเศรษฐกิจขยายตัว ครม.เห็นชอบตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมช่วยประชาชนในภาวะลำบาก ประเดิมใช้เงินโอนงบ 2,730 ล้านบาทเข้ากองทุน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ไว้ที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2561 ขยายไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561-30 ก.ย.2562 โดยกระทรวงการคลังได้รายงานว่า การลดแวตไว้ที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ คิดเป็นวงเงิน 258,500 ล้านบาท โดยในส่วนของประชาชนจะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ จะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน และสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้อย่างถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้รายงานถึงเหตุผลการคงแวตต่อไปอีก 1 ปีด้วยว่า เนื่องจากได้ประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 3.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์สูง รายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในด้านการบริโภค การลงทุนให้มีการขยายตัว

ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดให้มีกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม ผ่านหน่วยงาน มูลนิธิ องค์กรการกุศล เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท รวมถึงการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมอย่างครบวงจรสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

“กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะเป็นกลไกในการเติมเต็มการสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนและผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณ โดยการนำข้อมูลประชาชนที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้ประโยชน์และช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง”

สำหรับแหล่งเงินทุนของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมประกอบด้วยเงินที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐจัดสรรให้ ซึ่งเบื้องต้นวงเงินที่ได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทันจำนวน 12,730 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในส่วนของการทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เพื่อโอนเงินเข้าไปอยู่ในงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นนั้นจะนำมาใช้เติมไว้ในกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมวงเงิน 2,730 ล้านบาท อีก 10,000 ล้านบาท จะใช้สำหรับงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมยังสามารถมีรายได้จากเงินบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชน รวมถึงเงินจากองค์กรต่างประเทศ และผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินของกองทุนได้ด้วย

ส่วนกลไกการบริหารกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมนั้น จะตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมาประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 3 คน โดยกำหนดให้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ การลงทุน กฎหมาย หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อสามารถให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็น ประโยชน์ในการพิจารณาเรื่องต่างๆในการบริหารจัดการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ