เบรกออกกฎหมายคุมค้าปลีก ผลศึกษาทีดีอาร์ไอชี้ชัดธุรกิจไม่ได้้ผูกขาด

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เบรกออกกฎหมายคุมค้าปลีก ผลศึกษาทีดีอาร์ไอชี้ชัดธุรกิจไม่ได้้ผูกขาด

Date Time: 2 ก.ค. 2561 08:08 น.

Summary

  • “พาณิชย์” ชูผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอว่า รัฐไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุม ค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ตามที่ สนช.เสนอ เผยการเติบโตไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่สอดคล้องพฤติกรรม

Latest

คลัง VS แบงก์ชาติ

“พาณิชย์” ชูผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอว่า รัฐไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุม ค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ตามที่ สนช.เสนอ เผยการเติบโตไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่สอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภค ส่วนการดูแลร้านโชห่วย ใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าได้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานผลการศึกษาแนวทางการยกร่างมาตรการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตามผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายค้าปลีกเพื่อมาควบคุมร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ เนื่องจากการเติบโตของห้างเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการผูกขาด แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบร้านค้าปลีก ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อช่วยเหลือร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือร้านโชห่วย และซัพพลายเออร์ได้คือ ใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในการป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีร้านค้าปลีกเป็นของตัวเอง ขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือที่ราคาต่ำกว่าที่ขายให้กับร้านค้าปลีกอื่นๆ พร้อมทั้งให้ส่งเสริมสนับสนุนให้ห้างค้าปลีกดั้งเดิมสามารถปรับตัวเป็นห้างค้าปลีกสมัยใหม่ได้ โดยอาจเน้นการขายสินค้าเฉพาะด้านที่แตกต่างจากที่ขายให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบการจัดร้านให้สะดวก สะอาด และมีระบบการบริหารจัดการคลังสินค้าที่ดี เพื่อให้มีสินค้าที่ใหม่ สด และเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์มีความเห็นว่า ปัจจุบันร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ได้ขยายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ และผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มผู้ค้ารายย่อย หรือขนาดกลาง ได้มีการพัฒนาทั้งการจัดร้าน การจัดวางสินค้า การจำหน่าย โดยมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และความสามารถในการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ทำให้การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีก จึงต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจการค้า และการพัฒนาของผู้ประกอบการรายย่อย

ขณะเดียวกัน การมีผลบังคับใช้ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ ยังสามารถช่วยกำกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้าต่างๆได้ตามหลักสากล ส่วนเรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้จัดทำโครงการธงฟ้าประชารัฐ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขัน กับร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังมี โครงการพัฒนาค้าส่งค้าปลีกไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน รวมไปถึงการพัฒนาค้าปลีกชุมชน เพื่อส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการสามารถแข่งขันและเติบโต ได้ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลด้วย

สำหรับการศึกษาเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับรายงานการ ศึกษาเรื่องโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง สภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา จัดทำโดยคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา โดยเห็นว่าควรมีการออกกฎหมายประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เป็นมาตรการกำกับดูแลและส่งเสริมค้าปลีกค้าส่งดั้งเดิมให้สามารถประกอบธุรกิจและคงอยู่ได้ในระบบการค้าสมัยใหม่ โดยมีการว่าจ้างทีดี
อาร์ไอให้มาศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการยกร่างกฎหมายดังกล่าว แต่จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอก็เห็นว่า ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับใหม่มาดูแล จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวมาให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ