นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้สถาบันการเงินของรัฐไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสิ่งสำคัญในขณะนี้คือ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายการเติบโตไปในทุกภาคส่วนให้ทั่วถึง ไม่ใช่เติบโตแบบกระจุกตัวเหมือนปัจจุบัน จึงต้องเร่งผลักดันการเติบโตลงสู่เศรษฐกิจระดับฐานรากให้เร็วที่สุด ส่วนกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เท่าเดิมที่ 1.5% ต่อปีนั้น ถือเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว คงห้ามไม่ได้
ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่งประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์นั้น ทำให้นโยบาย National e-Payment สำเร็จเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น และสนับสนุนให้มีผู้ใช้บริการระบบพร้อมเพย์มากขึ้น และเป็นการปรับตัวของสถาบัน การเงินเพื่อรักษาฐานลูกค้าด้วย
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารจะพยายามตรึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุดหรืออย่างน้อยภายในปีนี้ ธนาคารจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะถือเป็นนโยบายที่ธนาคารเฉพาะกิจต้องปฏิบัติตาม เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกัน ธนาคารก็ยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารราว 300,000-400,000 ล้านบาท
“จากสภาพคล่องในระบบที่มีมากถึง 3-4 ล้านล้านบาทนั้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เร่งระดมเงินฝาก ขณะที่การปล่อยสินเชื่อขยายตัวเพียง 1 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ดังนั้น สภาพคล่องที่มีอยู่นี้น่าจะเพียงพอกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ แต่หาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย เงินก็จะไหลออกจากไทย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เมื่อเงินไหลออก ไทยก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้น ต้องรอดูสถานการณ์”
ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ยังไม่มีแผนปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงเดือน มิ.ย.2561 แต่หากครึ่งปีหลัง กนง.มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี ธอส.ก็ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยขณะนี้ ธอส.มีสภาพคล่องส่วนเกินราว 80,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับการปล่อยสินเชื่อตลอดทั้งปี แต่หากสภาพคล่องปรับลดลง ก็อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 0.125%.