นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงมุมมองเศรษฐกิจไตรมาส 2 ว่า ยังคงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 4% ตามกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น พื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ
“ต้องจับตาความเสี่ยงของภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปีนี้อยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อกำไรกลุ่มสินค้าเกษตรเป็นหลัก ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากการที่สหรัฐฯเริ่มมาตรการกีดกันทางการค้า และสถานการณ์อาจจะบานปลายไปเป็นสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ หากมีมาตรการตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกของไทย แต่ยังเชื่อว่าสงครามการค้าโลกไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 2 จะมีการทบทวนจีดีพีและการส่งออกอีกครั้ง โดยจะติดตามการส่งออกหลังจากที่การส่งออก 2 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงขึ้น 13.8% เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย-พลัส ได้ประเมินสงครามกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ว่า จะกระทบคู่ค้าในเอเชียซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของจีน 49% โดยฮ่องกง มีสัดส่วนการค้ากับจีนมากสุด 9.0%, ญี่ปุ่น 8.14%, เกาหลีใต้ 7.48%, ออสเตรเลีย 3.2%, เวียดนาม 2.91%, มาเลเซีย 2.57% และไทย 2.24% โดยประเทศเหล่านี้เป็นฐานการผลิตสินค้าให้กับจีน ขณะที่ในส่วนของผู้บริโภคสหรัฐฯและจีนจะได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น ส่วนฝั่งเอเชียน่าจะได้ประโยชน์จากราคาสินค้าส่งออกที่มาจากจีนจะถูกลง เช่น เหล็ก เป็นต้น
ทั้งนี้ เอเซียพลัสยังระบุว่า กรณีที่จีนเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เชื่อว่าอาจเป็นโอกาสดีของการส่งออกไทยไปจีน โดยเฉพาะผลไม้และเนื้อหมู เพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ จีนเองได้อนุญาตให้นำเข้าไก่จากไทยแล้ว.