2 ปีก่อน คณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) ต้องเผชิญกับความจริงอันน่าสะพรึงกลัว หลังศึกษาพบขีดความสามารถของเอสซีบีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลกในยุคใหม่ มีจุดอ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก
อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอแบงก์ไทยพาณิชย์ บอกกับ “ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” ว่า บอร์ดเห็นอย่างชัดเจนว่าโครงสร้างพื้นฐานของเอสซีบีไม่สอดรับกับโลกในยุคใหม่อีกต่อไป และนั่นเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขในทันที
2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ “อาทิตย์” อธิบายว่าหมกมุ่นอยู่กับรายได้และผลกำไรน้อยลง มองภาพใหญ่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐานของแบงก์ เพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง
2 ปีที่แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทเล็กๆในเครือเอสซีบีอย่าง “ดิจิทัล เวนเจอร์” หรือ DV ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร ทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีก ประคองให้เอสซีบีปรับตัวรับการแข่งขันในโลกใหม่ให้ได้
DV เป็นทั้ง Venture Capital (VC) เสาะหาช่องทางลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดี เป็นทั้ง Lab หรือห้องทดลองต่อยอดบริการใหม่ๆ และเป็น Accelerator ช่วยเหลืออุ้มชูสตาร์ทอัพ ได้งบลงทุนจากเอสซีบีประมาณ 50 ล้านเหรียญหรือราว 1,760 ล้านบาทและยังได้งบใช้จ่ายทั่วไปอีกปีละ 500 ล้านบาท ไม่น้อยแต่ถือว่าจิ๊บจ๊อย เมื่อเทียบกับกำไรของเอสซีบี (เมื่อปี 2559 อยู่ที่ 47,000 ล้านบาท)
24 ส.ค.ที่ผ่านมา DV เพิ่งเปิดตัวโปรเจกต์ใหญ่ภายใต้การทำงานของ “อรพงศ์ เทียนเงิน” ซีอีโอคนใหม่ ใช้ชื่อว่า Chatuchak Guide
โปรเจกต์นี้ทำงานต่อยอดจากการที่ DV เข้าไปลงทุนใน IndoorAtlas สตาร์ทอัพฟินแลนด์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการตรวจ จับ (Detect) กระแสแม่เหล็กโลก โดยได้แรงบันดาลใจจากข้อสงสัยที่ว่า ทำไมเต่าบางชนิดสามารถว่ายน้ำข้ามทวีปข้ามโลกกลับไปวางไข่ที่เดิมได้ทุกปี มันไม่มีจีพีเอสหรือดาวเทียมนำทางอะไรทำให้มันว่ายน้ำกลับไปที่เดิมได้ คำตอบก็คือมันว่ายตามกระแสแม่เหล็กโลก
“อรพงศ์” ซึ่งเคยเป็นเอ็มดีไมโครซอฟต์และแอคเซนเจอร์ประเทศไทย บอกว่า การเสาะหาสตาร์ทอัพที่ดีเป็นงานถนัดของเขา หลังซื้อหุ้น IndoorAtlas ไม่กี่เดือน DV ก็สามารถนำเทคโนโลยีจับกระแสแม่เหล็กโลกมาต่อยอดให้บริการได้ทันที เพราะ DV เป็นทั้ง VC และ Lab
แอพพลิเคชั่น ChatuChak Guide ซึ่งขณะนี้เปิดให้ดาวน์โหลดแล้วผ่านแอพสโตร์และเพลย์สโตร์ ช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาร้านค้าน้อย-ใหญ่ที่มีอยู่กว่า 10,000 ร้านในจตุจักรได้ ทั้งในร่มและกลางแจ้ง มันช่วยให้ผู้ใช้รู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหนของจตุจักร จะไปตรงไหนต้องเดินไปอย่างไร จึงจะเจอร้านที่ต้องการ
โอกาสที่ ChatuChak Guide หยิบยื่นให้กับผู้ค้าก็คือการสร้างตัวตนในโลกดิจิทัล (Digital Presence) ด้วยการทำหน้าร้านให้ กำหนดจุดที่ตั้งให้ เชื่อมโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ พาคนซื้อมาหาถึงหน้าร้าน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ ว่าการเป็นลูกค้าไทยพาณิชย์ จะได้อะไรที่มากกว่า
ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อกฎระเบียบ (Regulater)เปิดกว้างมากขึ้น บริการรับชำระเงิน (Payment) รายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิลเพย์ (Apple Pay) ซัมซุงเพย์ (Samsung Pay) อาลีเพย์ (Alipay) หรือวีแชทเพย์ (We Chat Pay)
...ถึงตอนนั้น หากอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน เอสซีบีไม่มีทางเอาชนะได้ ถ้ายังแข่งขันในแง่มุมเดิมๆ เช่น แข่งลดค่าธรรมเนียม แข่งให้โปรโมชั่น เพราะ คู่แข่งระดับโลกเหล่านี้มีเงินมากกว่าและพร้อมทุ่มสู้ แถมมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่ออยู่เป็นจำนวนมาก
ล่าสุด เอสซีบียังเพิ่งตั้งบริษัทใหม่ ใช้ชื่อว่า “อบาคัส” ทำธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อทำความรู้จักลูกค้าให้ได้ในทุกกระเบียดนิ้ว
เขาเล่าว่า WeChat แอพพลิเคชั่นสนทนารายใหญ่ในจีน ซึ่งมีผู้ใช้ 900 ล้านคน เพิ่งเปิดบริการ WeBank ปรากฏหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Loan) อยู่ในระดับต่ำมากไม่ถึง 1% ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์
สิ่งที่ WeBank มี ไม่ใช่แค่ฐานลูกค้าขนาดมโหฬารอย่างเดียว แต่ยังมีกระบวนการวิเคราะห์ Big Data ที่ยอดเยี่ยม สามารถแจกแจงข้อมูลลูกค้า 1 คน ได้ถึง 3,000 เรื่อง ถือว่าละเอียดมาก การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อจึงทำได้แม่นยำ แม้ผู้กู้ไม่ได้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ละเอียดยิบ ทำให้ประเมินได้ว่าคนไหนมีความซื่อสัตย์ ไม่มีแนวโน้มว่าจะเบี้ยวหนี้
ตัวอย่างที่ยกมา เป็นเพียงเศษเสี้ยวในหลายร้อยพันเหตุผล ที่ทำให้เอสซีบีต้องขวนขวาย ทำลายล้าง (Disrupt) คำถามที่ตั้งโจทย์ขึ้นมาให้ได้ว่า แบงก์จะแข่งขันในยุคต่อไปอย่างไร ทั้งแข่งกันเอง แข่งกับผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก ตลอดจนแข่งกับฟินเทค สตาร์ทอัพ รายเล็กรายน้อย
เพื่อให้แน่ใจว่า ในเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนัก เอสซีบีจะวิ่งได้เร็วเท่าทันทุกคน.
ศุภิกา ยิ้มละมัย