นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยอนุมัติให้ปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายชดเชยภาระค้ำประกันที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการค้ำประกันเงินกู้ของเอสเอ็มอี เพิ่มวงเงินชดเชยภาระค้ำประกันจากเดิม 23.75% เป็น 30% หรือเพิ่มขึ้น 6.25%
โดยกระทรวงการคลังคาดว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยความเสียหายจากการเพิ่มวงเงินชดเชยค้ำประกันตลอดอายุโครงการ 10 ปี เพิ่มขึ้นอีกเป็นเงินจำนวน 5,062 ล้านบาท แบ่งเป็นปีแรกที่เริ่มโครงการวงเงิน 1,923 ล้านบาท ปีที่ 2 วงเงิน 1,518 ล้านบาท ปีที่ 3 วงเงิน 1,113 ล้านบาท ปีที่ 4 วงเงิน 708 ล้านบาท และปีที่ 5-10 เฉลี่ยปีละ 506 ล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินเดิมที่คาดว่าจะต้องจ่ายชดเชยความเสียหายจำนวน 5,750 ล้านบาท จึงรวมเป็น 10,812 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม 1.75% ของวงเงินที่เอสเอ็มอีให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้ ส่วนนี้รัฐบาลจะเข้ามารับภาระแทนให้เอสเอ็มอีรวม 3,240 ล้านบาทมาจากงบกลางของปีนี้ รวมวงเงินชดเชยทั้งโครงการ ทั้งสิ้น 14,052 ล้านบาท คาดหวังว่าการปรับปรุงเงื่อนไขครั้งนี้ จะส่งผลให้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ทวีทุน ระยะที่ 6 ซึ่งเดิมมีวงเงินสินเชื่อรวม 100,000 ล้านบาท สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีโดยมี บสย.ค้ำประกันตามโครงการไปแล้ว 19,000 ล้านบาท เหลืออยู่ 81,000 ล้านบาท ในส่วนที่เหลืออยู่นี้จะปล่อยสินเชื่อได้หมดภายในสิ้นปี 2560 นี้
“ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับปรุงมาตรการครั้งนี้ จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มอีกจำนวน 27,000 รายสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เหลืออยู่จำนวน 81,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่มากกว่ารายเดิมที่เคยได้สินเชื่ออยู่แล้ว ทำให้เกิดการจ้างงาน 108,000 คน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก 371,000 ล้านบาท และนอกจากมาตรการด้านการเงินที่ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นแล้ว ยังมีมาตรการสนับสนุนด้านอื่นไปพร้อมกันด้วย เป็นโครงการเกี่ยวกับการเสริมทักษะให้องค์ความรู้ใหม่กับเอสเอ็มอีทั้งองค์ความรู้ทางด้านการบริหารการเงิน และกระบวนการผลิตสมัยใหม่ การเข้าถึงเทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาด”.