เมื่อพูดถึงการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่เติบโต "ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา" มักเป็นชื่อแรกๆ ที่นักลงทุนทั่วโลกนึกถึง ด้วยการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำของโลก จึงเปรียบเสมือนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาคและบริษัทชั้นนำของโลก
การขยายพอร์ตโฟลิโอไปยังต่างประเทศ ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดทุนในประเทศเพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม ก้าวแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่สนใจตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือการทำความเข้าใจ "ดัชนีสำคัญ" ซึ่งเปรียบเสมือนชีพจรที่คอยชี้วัดภาพรวมของตลาด เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ต่อไป
ก่อนจะไปเลือกหุ้นรายตัวหรือกองทุนรวม สิ่งสำคัญคือการทำความรู้จักกับ 3 ดัชนีหลักที่เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งแต่ละดัชนีก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป ช่วยให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมและเลือกสินทรัพย์ที่ตรงกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้
1. Dow Jones Industrial Average
"ดาวโจนส์" เป็นหนึ่งในดัชนีที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุดในโลก จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยคัดเลือกหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหลักจำนวน 30 บริษัท ซึ่งเป็นหุ้นคุณภาพดี มีพื้นฐานแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพสูง เช่น 3M, Coca-Cola, Johnson & Johnson และ Visa เป็นต้น
แม้จะมีจำนวนหุ้นเพียง 30 ตัว แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทชั้นนำ ทำให้ดัชนี Dow Jones มักถูกใช้เป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในสายตานักลงทุนที่เน้นความมั่นคง
2. S&P 500
หากต้องการเห็นภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กว้างและครอบคลุมที่สุด ดัชนี S&P 500 คือคำตอบ นี่คือดัชนีที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลก ประกอบด้วยหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ 500 แห่งที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี, การเงิน, พลังงาน, หรือสุขภาพ
S&P 500 มีความสำคัญ เพราะมูลค่าตลาดรวมของบริษัทในดัชนีนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง ประมาณ 80% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั้งหมดในสหรัฐฯ จึงถูกยกให้เป็น "ภาพรวมของตลาดสหรัฐฯ" อย่างแท้จริง
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงและเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาว มักนิยมลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) หรือ ETF ที่อิงกับดัชนี S&P 500
3. NASDAQ
ดัชนี "แนสแด็ก" คือชื่อที่ทุกคนต้องจับตามอง นับศูนย์รวมหุ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเติบโตสูง เมื่อพูดถึงนวัตกรรม, เทคโนโลยี และการเติบโตแบบก้าวกระโดด NASDAQ Composite ประกอบด้วยหุ้นมากกว่า 3,000 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ โดยมีสัดส่วนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูงมาก ตัวอย่างเช่น Apple, Amazon, Meta (Facebook), Microsoft และ Tesla
เอกลักษณ์ของดัชนี NASDAQ คือ ความผันผวนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับอีกสองดัชนี สามารถเคลื่อนไหวขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง และคาดหวังผลตอบแทนจากการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนสนใจหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐโดยเฉพาะ ก็สามารถใช้อีกตัวชี้วัดหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน นั่นคือ NASDAQ-100 ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวม 100 บริษัทนอกภาคการเงิน ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในตลาด NASDAQ
ในปัจจุบันการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป นักลงทุนไทยสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลายช่องทางตามความสะดวก ความรู้ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
1. ลงทุนในหุ้นรายตัวโดยตรง
การลงทุนในหุ้นรายตัวโดยตรง เหมาะกับผู้ที่มีความรู้ด้านการวิเคราะห์หุ้นและต้องการเลือกซื้อหุ้นรายตัวด้วยตนเอง โดยสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศกับโบรกเกอร์ในไทยที่ให้บริการ หรือแพลตฟอร์มการลงทุนที่น่าเชื่อถือได้
2. ลงทุนผ่าน DR (Depositary Receipt)
การลงทุนผ่าน DR เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องการความสะดวก ไม่ต้องเปิดบัญชีต่างประเทศ และซื้อขายง่ายเหมือนหุ้นไทย ซึ่ง DR คือตราสารที่อ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศ นักลงทุนสามารถซื้อขาย DR ด้วยเงินบาท ผ่านแอป Streaming ได้เลยโดยใช้บัญชีซื้อขายหุ้นไทยที่มีอยู่ ซึ่งมีให้เลือกทั้ง DR ที่อ้างอิงหุ้นรายตัว และอ้างอิง ETF ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ
3. ลงทุนผ่านกองทุนรวม
การลงทุนกองทุนรวม เหมาะกับผู้ที่ไม่อยากเสียเวลาเลือกหุ้นเอง แต่ต้องการกระจายการลงทุนในดัชนีหลักๆ เพื่อเกาะไปกับการเติบโตของตลาด โดยสามารถเลือกซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในดัชนีสหรัฐฯ ผ่าน บลจ. ในไทย หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ได้เลย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดความมั่งคั่งและกระจายความเสี่ยงออกจากตลาดในประเทศ แต่หัวใจสำคัญก่อนเริ่มต้น คือการทำความเข้าใจข้อมูล และเลือกทิศทางการลงทุนที่เหมาะสำหรับเป้าหมายของตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีวินัยในการลงทุน และศึกษาข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
อ่านข่าวกับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้