จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ภาครัฐจะมีการระดมทุนผ่าน G-Token ในเบื้องต้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน ทั้งนี้ G-Token จะไม่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ หรือโอนให้ระหว่างกันได้
G-Token ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตัวใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จะไม่ใช่ Investment Token เพราะไม่ได้มีลักษณะของการร่วมลงทุน แต่เป็นโทเคนที่กำหนดสิทธิในการได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืน ซึ่งจะเข้าข่ายนิยามตามมาตรา 3 วงเล็บ 2 ของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. สินทรัพย์ดิจิทัล) ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะออกเป็นเหรียญแทนพันธบัตร โดยคลังต้องเลือกบล็อกเชน (Chain) ในการออกเหรียญ และคลังต้องทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนในการจ่ายผลตอบแทน ซึ่งจะเลือกเชนใดนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกระทรวงการคลัง
เปิดขั้นตอนจองซื้อ G-Token สำหรับการจองซื้อและจัดสรรในตลาดแรก จะมีการกำหนดให้ผู้ที่สนใจสามารถจองซื้อ G-Token ได้ทั้งผ่านผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลและบริษัทหลักทรัพย์ โดยผู้ที่ลงทุนหากมีวอลเล็ต (Wallet) กับผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว สามารถเปิดจองซื้อได้เลย ส่วนผู้ที่ต้องการจองซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ก็สามารถแจ้งความประสงค์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ได้ แต่ถ้ายังไม่มีบัญชีวอลเล็ต สามารถไปติดต่อโบรกเกอร์ โดยแจ้งความจำนงว่าต้องการจองซื้อ G-Token โบรกเกอร์ก็จะรวบรวมและดำเนินการจองซื้อให้ โดยจะเก็บ G-Token ไว้ในวอลเล็ตของโบรกเกอร์
การซื้อขาย G-Token ในตลาดรอง ผู้ที่เป็นลูกค้าของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถซื้อขายในตลาดรองที่กำหนดได้เลย ส่วนผู้ที่จองซื้อ G-Token ผ่านโบรกเกอร์นั้น ต้องดำเนินการโดยแจ้งไปยังโบรกเกอร์เพื่อให้ดำเนินการขาย G-Token ให้
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการปั่นราคาในตลาดรองว่า ก.ล.ต. มีกลไกรองรับอยู่แล้ว โดยในฝั่งของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องดูแล และขึ้นเครื่องหมายเตือนหากราคาเหวี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเตือนผู้ลงทุนก่อนตัดสินใจซื้อขายเหรียญ นอกจากนี้ จะมีกลไกของการแสดงราคาเงินต้นและผลตอบแทน ณ เวลานั้น เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน และต้องเปิดเผยข้อมูลราคาเงินต้นและผลตอบแทน เพื่อให้ทราบว่าควรซื้อขายที่ราคาเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกังวลเรื่องการจะนำ G-Token ไปใช้แทนเงินตรา หรือชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ก.ล.ต. ขอย้ำว่า เราไม่สนับสนุนในเรื่องนี้ และเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เนื่องจากตัวสมาร์ทคอนแทร็ก (Smart Contract) สามารถกำหนดเงื่อนไขในการโอนเหรียญได้ เช่น การห้ามโอนเหรียญให้บุคคลอื่น และกำหนดให้ซื้อขายเฉพาะในตลาดที่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สามารถป้องกันได้โดยการระบุไว้ในสัญญา นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็ถูกห้ามไม่ให้บริการนำเหรียญไปซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ และห้ามมีการโอนเงินบาทระหว่างกัน (เพื่อการชำระค่าสินค้า/บริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล) โดยสามารถกำหนดสิทธิในการใช้ G-Token ในธุรกรรมดังกล่าวได้
ส่วนการเสนอขาย G-Token นั้นจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่นั้น หากจะดำเนินการให้ทันปีงบประมาณนี้ คาดว่าจะต้องเริ่มดำเนินการภายใน ก.ค. - ส.ค.นี้
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้