โบรกฯ เตือน ปัญหาการเมืองวนลูปอาจกดตลาดหุ้นอีกครั้ง ? พบ “กองทุน” เทขายหนักสุด เปิด 5 หุ้น น่าสะสม

Investment

Capital Market

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โบรกฯ เตือน ปัญหาการเมืองวนลูปอาจกดตลาดหุ้นอีกครั้ง ? พบ “กองทุน” เทขายหนักสุด เปิด 5 หุ้น น่าสะสม

Date Time: 23 พ.ค. 2568 11:13 น.

Video

สหรัฐฯ เสี่ยงเบี้ยวหนี้ ? ผลประชุม FED จะมีเซอร์ไพรส์ ? | Thairath Money Night Stand EP.4

Summary

  • บล.เอเซีย พลัส ชี้ประเด็นการเมือง อาจหวนกลับมากดตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง พบนักลงทุนสถาบันเทขายหนักสุดช่วงที่ผ่านมา แต่มูลค่าถูกเกินพื้นฐาน แนะ 5 หุ้นเด่น น่าทยอยสะสมระยะยาว

Latest


บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย อาจเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยทางการเมืองอีกครั้ง และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศ หรือ “กองทุน” มีการเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนความกังวลต่อเสถียรภาพและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนนี้ นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีสัญญาณกลับเข้ามาช่วยพยุงตลาดบ้าง และอาจมีโอกาสในวิกฤต จาก Valuation ของตลาดหุ้นไทยปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจ พร้อมเปิดโผ 5 หุ้น น่าทยอยสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว

ปัญหาการเมืองวนลูป อาจกดตลาดหุ้นอีกครั้ง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นการเมืองจะกลับมากดดันตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โดยล่าสุดกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าเสียหายในคดีจำนำข้าวเป็นจำนวนเงิน 10,028 ล้านบาท ได้ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งในมุมการเมือง กระบวนการยุติธรรม ตลาดหุ้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแนวโน้มของพรรคร่วมรัฐบาลในอนาคต

ทั้งนี้ ความกังวลจากประเด็นการเมือง จะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดัน (Overhang) ตลาดต่อไปจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ซึ่งศาลฎีกานัดไต่สวนกรณีการบังคับใช้โทษของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นไปโดยผิดขั้นตอนกฎหมาย และจะต้องกลับไปรับโทษที่เหลืออยู่หรือไม่

ประเด็นนี้อาจนำไปสู่การสั่นคลอนเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล และส่งผลกระทบต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะงบลงทุนกว่า 8.6 แสนล้านบาท ซึ่งหากเกิดการหยุดชะงัก อาจทำให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนนี้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

พบ “นักลงทุนสถาบัน” เทขายหนัก

บล.เอเซีย พลัส ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงวันที่ 14-22 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลประเด็นการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน กดดันให้ดัชนีร่วงจากระดับ 1,231 จุด ลงมาอยู่ที่ 1,173 จุด โดยแรงขายหลักมาจากนักลงทุนสถาบันฯ ที่ขายสุทธิถึง -4.6 พันล้านบาท

สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาช่วยพยุงตลาด โดยมีการซื้อสุทธิหุ้น 3 วันติดต่อกันมูลค่า 2.7 พันล้านบาท ซื้อสุทธิตราสารหนี้ 3 วันติด 1.67 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาด TFEX ถึง 7 วันติด จำนวน 2.4 หมื่นสัญญา ทำให้เม็ดเงินส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในตลาดตราสารหนี้

ซึ่งในมุมของมูลค่าตลาด (Valuation) ความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อได้กดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นจนทำให้มูลค่าตลาดโดยรวม (Market Cap) ของตลาดหุ้นไทยเหลือเพียง 14.5 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าตลาดตราสารหนี้ที่มีมูลค่าสูงถึง 17.1 ล้านล้านบาท ทั้งที่โดยปกติแล้ว Market Cap ของตลาดหุ้นมักจะสูงกว่าเสมอ

เปิดลิสต์ 5 หุ้น น่าสะสมระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ช่วงถัดไปตลาดหุ้นไทยน่าจะมีความผันผวนน้อยลง และมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้บ้างในบางจังหวะ แม้ประเด็นการเมืองจะยังคงร้อนแรง แต่ดัชนีในช่วงสั้นก็ได้ปรับตัวลงมาแล้วกว่า 50 จุด ประกอบกับมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มสลับเข้ามาพยุง

เมื่อพิจารณาในมุมผลตอบแทนของตลาดหุ้น เทียบกับ Bond Yield อายุ 1 ปี ถือว่าสูงกว่ามาก ส่งผลให้ดัชนีที่ระดับ 1,173 จุด มี Market Earning Yield Gap (MEYG) กว้างถึง 5.21% ชี้ให้เห็นว่าแม้ตลาดหุ้นไทยจะถูกกดดันจากประเด็นการเมือง แต่ก็มี Valuation ที่ถูกมาก

ดังนั้น จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนว่า สำหรับระยะสั้น อาจพิจารณาหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ส่วนนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้ใช้จังหวะนี้ค่อยๆ ทยอยหาหุ้นสะสม โดยหุ้น 5 ตัวที่บล.เอเซีย พลัส แนะนำ ได้แก่

  1. หุ้น OSP หรือ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
  2. หุ้น CK หรือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
  3. หุ้น SCC หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)
  4. หุ้น SCGP หรือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  5. หุ้น GULF หรือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ