ผ่อนเกณฑ์ “ซื้อหุ้นคืน” เริ่ม พ.ค.นี้ ตลท. ปลุกตลาด ชู "TISA" ส่งเสริมออมหุ้นระยะยาว

Investment

Capital Market

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่อนเกณฑ์ “ซื้อหุ้นคืน” เริ่ม พ.ค.นี้ ตลท. ปลุกตลาด ชู "TISA" ส่งเสริมออมหุ้นระยะยาว

Date Time: 19 พ.ค. 2568 18:12 น.

Video

สหรัฐฯ เสี่ยงเบี้ยวหนี้ ? ผลประชุม FED จะมีเซอร์ไพรส์ ? | Thairath Money Night Stand EP.4

Summary

  • ตลท. อัพเดทความคืบหน้า ลุยฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน และเพิ่มเสน่ห์ให้ตลาดทุนไทย ชี้ภารกิจเร่งด่วนคือการ "สร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น" เตรียมยกเครื่องกฎเกณฑ์ พร้อมผลักดัน "TISA" เป็นเรือธงกระตุ้นการลงทุนระยะยาว

Latest


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อัพเดทความคืบหน้าโครงการต่างๆ ลุยฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน และเพิ่มเสน่ห์ให้ตลาดทุนไทย หลังเผชิญมรสุมความผันผวนอย่างหนัก โดยศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลท. ชี้ภารกิจเร่งด่วนคือการ "สร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น" ให้กลับคืนมา เตรียมยกเครื่องกฎเกณฑ์ พร้อมผลักดัน "TISA” เป็นเรือธงกระตุ้นการลงทุนระยะยาว

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แผนการดำเนินงานสำคัญ ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนอย่างยิ่งในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยเผชิญความท้าทายหลายด้านและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หน้าที่หลักคือการ "สร้างความเชื่อมั่น (Trust and Confidence)" ให้กลับคืนมา พร้อมยกเครื่องกฎเกณฑ์ และผลักดันโครงการ "TISA" (Thailand Investment Saving Account) หวังดึงดูดการลงทุนระยะยาว

สำหรับปัญหาความไม่เท่าเทียมในการซื้อขายหุ้นและเหตุทุจริตต่างๆ ที่ได้บั่นทอนความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะประเด็นการซื้อขายที่อาจสร้างความไม่เป็นธรรม เช่น การทำชอร์ตเซล (Short Sell), การซื้อขายความถี่สูง (HFT) หรือการใช้โรบอทเทรด ที่ถูกมองว่าเอาเปรียบผู้ลงทุนรายย่อยนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามาปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความเท่าเทียมมากที่สุด

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ  ได้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ แก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับหุ้นซื้อคืน (Treasury Stock) ซึ่งเดิมมีข้อจำกัดมาก คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยประเด็นหลักคือผ่อนคลายเกณฑ์ด้านระยะเวลาการทำโครงการใหม่โดยไม่ต้องรอ 6 เดือน และขยายเวลาในการขายหุ้นซื้อคืนจาก 3 ปี เป็น 5 ปี

ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซื้อหุ้นคืนแล้ว 37 ราย คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านบาท สูงกว่ายอดซื้อหุ้นคืนทั้งปีของปีก่อน ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ตลาดทุน และช่วยให้ค่า P/E ของบริษัทดีขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ  กำลังอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกพันธมิตรผู้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระดับโลก เพื่อจับมือและนำมาประยุกต์ใช้ในการกำกับการซื้อขาย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการตรวจสอบและเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทำให้การดำเนินการต่างๆ มีความรวดเร็วขึ้นมากด้วย

ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ  เตรียมเปิดตัวโครงการ "Jump+" ในเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้บริษัทในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เช่น บริษัท Deep Tech หรือ Start-up รวมถึงบริษัทต่างชาติให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอาจมีการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การจดทะเบียน เช่น ไม่จำเป็นต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี และอาจมีการจัดตั้งกระดานซื้อขายใหม่สำหรับบริษัทเหล่านี้ คล้ายกับในต่างประเทศ

อีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือ "TISA" ซึ่งเป็นบัญชีเพื่อการออมและการลงทุนในหุ้นระยะยาวสำหรับคนไทย โดยกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินปันผล 10% ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะต้องมีการแก้ไขประมวลรัษฎากร และเสนอเข้าสู่ ครม. ต่อไป

โดยแนวคิดนี้คล้ายกับ โครงการ NISA ของญี่ปุ่น ที่มีการจำกัดวงเงินลงทุน (ในญี่ปุ่นประมาณ 20 ล้านเยน) เมื่อครบกำหนดอายุการลงทุน ก็สามารถขายได้โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการออมของคนไทยให้สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ในแผนงานสำคัญของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ  ยังมีโครงการที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ได้แก่

  • ด้านการยกระดับการกำกับดูแล เช่น การผลักดัน Regulatory Guillotine / Omnibus Law for Capital Market, ปรับปรุงเกณฑ์และ Incentive สำหรับ New Economy Listing และ LiVEx, ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในตลาดทุน
  • ด้านการเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น Bond Connect Platform, Carbon Credit Ecosystem, สนับสนุน Family Business ให้เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านตลาดทุน, สนับสนุนการมี Dual-Class Shares, ร่วมกับ BOI เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียน
  • ด้าน ESG เช่น สนับสนุน ESG Data Platform, ส่งเสริมความรู้ด้าน ESG และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) เป็นต้น

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ ย้ำว่า แผนงานต่างๆ เหล่านี้ จะดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ , สำนักงาน ก.ล.ต., และกระทรวงการคลัง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเพื่อทำให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดของทุกคน ตามแนวคิด To Make the Capital Market "Work" for Everyone


อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ