ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งในวันนี้ (13 พ.ค.) เมื่อดัชนี SET Index เปิดตลาดพุ่งขึ้นสูงสุดกว่า 20.08 จุด และปิดตลาดภาคเช้าที่ 1,219.76 จุด เพิ่มขึ้น 8.82 จุด หรือ +0.73% ท่ามกลางความหวังจากการ “คลายล็อก” ความตึงเครียดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามสำคัญว่า การดีดกลับของตลาดหุ้นไทยในรอบนี้ เป็นการ “ฟื้นจริง” หรือไม่ เพราะหลายฝ่ายประเมินพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง และยังไม่มีความคืบหน้าในเชิงรูปธรรมจากฝั่งรัฐบาลไทยในการเร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เทียบกับหลายประเทศในเอเชียที่เริ่มเดินหน้าเจรจาแล้ว
นอกจากนี้ เม็ดเงินต่างชาติแม้เริ่มมีสัญญาณกลับเข้ามาบ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะ “อยู่ยาว” หรือแค่ “มาไวไปไว” จังหวะนี้นักลงทุนอาจต้องชั่งใจให้ดี ว่าแรงซื้อที่เข้ามาในวันนี้คือโอกาสสะสม หรือแค่ภาพลวงตาก่อนตลาดพักตัวอีกครั้ง
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 2.8-4.3% ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นราว 0.5-1.6% ส่วนเอเชียปรับตัวขึ้น 0.3-3% จากความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ผ่อนคลายลง โดยจีนลดภาษีสหรัฐฯ เหลือ 10% จากเดิม 125% และสหรัฐฯ ลดภาษีจีน เหลือ 30% จากเดิม 145%
ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังทิ้งไม่ได้ แม้สงครามการค้าจะผ่อนคลายลง โดยสหรัฐฯ ลดภาษีจีน เหลือ 30% (เดิม 145%) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า ธปท. ประเมินไว้ในฉากทัศน์ Lower Tariffs ที่ 54% มองเป็นมุมบวกที่อาจเพิ่มอัพไซด์ให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 2% ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังผลกระทบที่ตามมาต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปเช่นกัน หลังถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีกับการนำเข้าขั้นต่ำ 10% ขณะที่ผู้ว่า ธปท. ฉายภาพ "เศรษฐกิจไทย" ชะลอลงก่อนซึมลากยาว รับพิษ "ภาษีทรัมป์" โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบตั้งแต่ไตรมาส 3/68 และเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/68 เสี่ยงตกต่ำสุด ก่อนที่ค่อยๆ ฟื้นตัวเมื่อพิจารณาวิกฤตล่าสุดเศรษฐกิจไทยใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าจะฟื้นตัวเหนือช่วงโควิด-19
สำหรับในแง่มุมของทิศทางดอกเบี้ยไทย อาจเห็นการทิ้งช่วงการลดดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ฝ่ายวิจัยฯ ประเมิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ระดับ 1.75% จะหนุนกรอบแนวรับสำคัญทางพื้นฐานดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1,180 จุด และ 1,240 จุด ส่วนเป้าหมายดัชนีปีนี้ที่ 1,424 จุด
ทั้งนี้ เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง โดยกระแสเงินลงทุนต่างชาติสลับมาไหลเข้าตลาดหุ้นภูมิภาค ในเดือน พ.ค. นี้ (MTD) หลังจากขายมาตลอด 4 เดือนแรกของปี ส่วนตลาดหุ้นไทย ต่างชาติมีการสลับมาซื้อบ้าง พร้อมกับขายสุทธิน้อยลงเหลือ -11.8 ล้านเหรียญ หรือ -438 ล้านบาทเท่านั้นในเดือน พ.ค. จากขายสุทธิในปีนี้ 1.6 พันล้านเหรียญ หรือ -5.5 หมื่นล้านบาท จากต้นปี ขณะที่สัปดาห์นี้เริ่มมีเม็ดเงิน Thai ESGX เข้ามาพอดี หนุนให้ดัชนีในเดือนนี้มีโอกาสเดินหน้าต่อได้
ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเด็นเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มองเป็นอีกปัจจัยระยะสั้นมากกว่าสำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทย ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอ
โดยสัปดาห์นี้รอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจประกอบไปด้วย
นอกจากนี้ในวันดังกล่าวจะมีการให้สัมภาษณ์ของประธานเฟด แต่ก็เชื่อว่าอาจมีผลไม่มากนัก เพราะนักลงทุนกำลังให้น้ำหนักกับเจรจาการค้า ด้านปัจจัยในประเทศยังคงไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อใด ไทยจะได้เจรจากับสหรัฐฯ สวนทางกับหลายๆ ประเทศในเอเชียไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำและมีแรงกดดันจากการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มน้อยลง
สัปดาห์นี้ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,200-1,250 เชิงกลยุทธ์การลงทุนอาจเป็นจังหวะลดพอร์ตการลงทุน แม้มีประเด็นบวกเจรจาการค้า แต่พื้นฐานไทยมิได้แข็งแกร่งและยังไม่แน่ชัดว่าจะได้เจรจากับสหรัฐฯ เมื่อใด แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนระยะสั้นอาจเลือก Trading ในหุ้นกลุ่มน้ำมัน (PTTEP) ปิโตรเคมี (PTTGC IVL) รับจิตวิทยาเชิงบวกจากสหรัฐฯ - จีน
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney