บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ADVANC รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ปี 2567 กำไรสุทธิตามรายงาน อยู่ที่ 35,075 ล้านบาท เติบโต 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น รวมถึงการบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
โดยปี 2567 EBITDA อยู่ที่ 113,243 ล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการเติบโตของรายได้การให้บริการหลักและผลกระทบเชิงบวกจากการรวมการดำเนินงานของ TTTBB ร่วมกับส่วนแบ่งกำไรจาก 3BBIF
ขณะที่ EBITDA margin อยู่ที่ 53.0% เพิ่มขึ้นจาก 50.0% ณ สิ้นปี 2566 จากการเติบโตของรายได้ การปรับตัวดีขึ้นของอัตรากำไรของยอดขายอุปกรณ์ และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในงวดปี 2567 เอไอเอสมีรายได้รวมอยู่ที่ 213,569 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้รายได้ของ TTTBB การเติบโตของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงการเติบโตของรายได้จากการขายอุปกรณ์
รายได้จากการให้บริการหลัก (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและรายได้จากการ เป็นพันธมิตรกับ NT) อยู่ที่ 162,363 ล้านบาท เติบโต 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้รายได้ของ TTTBB และการเติบโตของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการเติบโตของบริการลูกค้าองค์กร (ไม่รวมโทรศัพท์เคลื่อนที่)
ส่วนรายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) และรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับ NT อยู่ที่ 13,130 ล้านบาท ลดลง -1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการปรับลด อัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย และ ปริมาณการเชื่อมต่อโครงข่ายกับ NT ที่ลดลง
และรายได้จากการขายอุปกรณ์และซิม อยู่ที่ 38,076 ล้านบาท เติบโต 3.0% จากปีก่อน ตามการมุ่งเน้นการขายอุปกรณ์ค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น สำหรับอัตรากำไรของยอดขายอุปกรณ์มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจาก 1.8% ในปี 2566 เป็น 5.6% ในปี 2567 จากการบริหารส่วนลดค่าเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับปี 2568 เอไอเอสตั้งเป้าแนวโน้มการเติบโต ทั้งรายได้จากการให้บริการ หลัก และกำไร EBITDA ควบคู่ไปกับการเติบโตเศรษฐกิจที่ประมาณ 3% ถึง 5% โดยกำไร EBITDA เติบโตจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น กระบวนการควบรวมกิจการ และ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ในส่วนของงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 26,000 ถึง 27,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สร้างกำไรเป็นหลัก ดังนี้
ในปี 2568 การเติบโตคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตของ GDP เอไอเอสมีความ ได้เปรียบในการนําเสนอบริการแบบผสมผสาน (Convergence) ที่เชื่อมโยงบริการหลักเข้าด้วยกัน โดยอาศัยความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับลูกค้า กลยุทธ์นี้จะช่วยเพิ่มมูลค่า จากการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เสริมสร้างความพึงพอใจของผู้ใช้ และกระตุ้นความภักดีต่อแบรนด์อย่างต่อเนื่อง
โทรศัพท์เคลื่อนที่: มุ่งเน้นรักษาความเป็นผู้นําด้านคุณภาพของโครงข่าย ยกระดับการใช้งาน 5G อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนําเสนอบริการเสริมและ คอนเทนต์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการส่งมอบบริการดิจิทัลที่เหนือระดับ ขณะที่การแข่งขันในตลาดมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ใช้บริการ
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง: กลยุทธ์มุ่งเน้นการขยายฐานผู้ใช้บริการในพื้นที่ใหม่ ควบคู่กับการเพิ่ม ARPU ผ่านการนําเสนอผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรม และการเชื่อมต่อที่เหนือกว่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วไป โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งมอบคุณภาพบริการที่เหนือกว่า
บริการลูกค้าองค์กร: มุ่งเน้นการให้บริการเชื่อมต่อและคลาวด์ โดยใช้ความสัมพันธ์กับฐานลูกค้าที่มีอยู่เพื่อนําเสนอผลิตภัณฑ์เสริมที่แตกต่าง โดยเฉพาะ โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย 5G เพื่อตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล กลยุทธ์นี้จะช่วยผลักดันการเติบโตอย่างมีกําไร พร้อมตอบสนองความต้องการที่ เปลี่ยนแปลงของลูกค้าองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กําไร EBITDA เติบโตประมาณ 3% ถึง 5% จากการมุ่งเน้นความสามารถในการทํากําไร การเติบโตของธุรกิจได้รับแรงหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการให้บริการและการจําหน่ายสินค้า ควบคู่ไปกับการบูรณาการธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ
เอไอเอสยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินงานและการใช้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ โดยอาศัยความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และการปรับปรุงการบริหารต้นทุน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการทํากําไร
นอกจากนี้ เอไอเอสยังคงลงทุนในระบบไอที การพัฒนาโครงข่ายให้ทันสมัย และการผสาน บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เป็นระบบเดียว เพื่อต่อยอดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทสามารถ รักษาผลประกอบการที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว พร้อมส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
ตั้งเป้างบลงทุนระหว่าง 26,000 ถึง 27,000 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของโครงข่ายและใช้ในการควบรวมกิจการให้เสร็จสมบูรณ์ กลยุทธ์การลงทุนจะมุ่งเน้นที่ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพื่อรักษาทั้งคุณภาพและความเป็นผู้นําด้านโครงข่าย
โดยงบประมาณการลงทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโครงข่ายและอุปกรณ์ให้ทันสมัย ค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการ และโครงการนําสายสื่อสารลงใต้ดิน สําหรับการจัดสรรงบลงทุนยังมุ่งเน้นที่บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามมาด้วยลงทุนใน บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และส่วนที่เหลือสําหรับบริการลูกค้าองค์กร และอื่น ๆ
สำหรับราคาหุ้น ADVANC วันนี้ (7 ก.พ. 68) ปิดตลาดที่ราคา 280.00 เพิ่มขึ้น 5.00 บาท หรือ +1.82% จากวันก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ราว 8.17 แสนล้านบาท
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้