ในประเทศส่วนใหญ่ ทุกวันนี้การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่เพียงแต่ถูกมองว่าเป็นสิทธิเท่านั้น แต่ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมอีกด้วย ซึ่งการศึกษาถือเป็นปัจจัยพื้นฐานยกระดับคุณภาพชีวิตของคน และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
Thairath Money พาส่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของแต่ละประเทศทั่วโลก ลงทุนกับการศึกษาเท่าไร เมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศ
UNESCO และ World Bank ได้ทำการศึกษาและจำลองแผนภาพการใช้จ่ายด้านการศึกษาทั่วโลกต่อ GDP ประจำปี 2564 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากปี 2563
โดยการใช้จ่ายด้านการศึกษาทั่วโลกต่อ GDP หมายถึงการใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐบาล รวมถึงการใช้จ่ายโดยรัฐบาลท้องถิ่น/เทศบาล ระดับภูมิภาคและระดับชาติ ในสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน การบริหารการศึกษา และเงินอุดหนุนสําหรับหน่วยงานเอกชน (นักเรียน/ครัวเรือน และหน่วยงานเอกชนอื่นๆ) ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกรายงานตามระดับการศึกษา และโดยทั่วไปจะเป็นส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติ (GDP) หรือเป็นส่วนแบ่งของรายจ่ายสาธารณะทั้งหมด
ในปี 2563 ทั่วโลกมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.33% ของจีดีพีโลก และในปีเดียวกันทั่วโลกก็มีการใช้จ่ายประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์ ไปกับบริการด้านสุขภาพ และเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กับความมั่นคงทางการทหาร
จากข้อมูลของ UNESCO พบว่า ประเทศที่มีรายได้สูงใช้เงินไปกับการศึกษาเกือบสองเท่าของประเทศที่มีรายได้น้อยในปี 2563
ในปี 2563 สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอยู่ที่ 6.05% ของ GDP ในขณะที่ในอเมริกาใต้ โบลิเวียเป็นผู้นําภูมิภาคที่ 9.84%
ในแอฟริกา นามิเบียมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อ GDP สูงที่สุดในภูมิภาคที่ 9.64%
ขณะที่เอเชีย 5 ประเทศอันดับแรกที่ใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงสุด ได้แก่ ภูฏาน 7% ฮ่องกง 5% จอร์เจีย 3.62% จอร์แดน 3.21% และสิงคโปร์ 2.81%
ด้านไทยมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาอยู่ที่ 3.15% เป็นอันดับที่ 5 ในภูมิภาคอาเซียน
ส่วนในยุโรป กรีนแลนด์เป็นผู้นําการใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สัดส่วน 10.5% ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่าของค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 5.13%
ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ Wittgenstein น้อยกว่า 10% ของประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม โดยพวกเขาไม่ได้เข้าหรือเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ประมาณ 10% ของประชากร สําเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ซึ่งเริ่มตั้งแต่อนุบาลจนถึงอายุ 11 หรือ 12 ปี และอีก 5% ไม่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา
และเกือบ 40% ของประชากรโลก ได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมักจะเริ่มตั้งแต่อายุ 11 หรือ 12 ถึง 18 หรือ 19 ปี
ส่วนที่เหลืออีก 12% ของประชากรโลก ได้รับการศึกษาผ่านระดับมัธยมศึกษาแล้ว โดยบุคคลที่มีระดับการศึกษาสูงในภาพรวม มักจะมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น