ยอดใช้บัตรเครดิตในห้างนิ่ง เหตุกำลังซื้อหดแต่เงินเฟ้อพุ่งสวนตามน้ำมัน

Money

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยอดใช้บัตรเครดิตในห้างนิ่ง เหตุกำลังซื้อหดแต่เงินเฟ้อพุ่งสวนตามน้ำมัน

Date Time: 2 พ.ค. 2560 04:15 น.

Summary

  • ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในห้างสรรพสินค้ากลับเงียบเหงา “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” เผยเหตุกำลังซื้อวูบตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ “พาณิชย์” เผยราคาน้ำมันพุ่ง ดันเงินเฟ้อ เม.ย.เพิ่ม 0.38% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13...

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้คนไทยยังมีกำลังซื้อ นโยบายกระตุ้นบริโภค ไม่ช่วยฟื้นภาคการผลิต

ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในห้างสรรพสินค้ากลับเงียบเหงา “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” เผยเหตุกำลังซื้อวูบตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ “พาณิชย์” เผยราคาน้ำมันพุ่ง ดันเงินเฟ้อ เม.ย.เพิ่ม 0.38% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ทำ 4 เดือนสูงขึ้น 1.03% เชื่อทั้งปีโตตามเป้าหมาย 1.5-2.2% หลังกำลังซื้อกลับมา จากผ่อนรถคันแรกหมด ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหมวดห้างสรรพสินค้าค่อนข้างเงียบ แม้ว่าห้างสรรพสินค้าออกแคมเปญต่างๆ กระตุ้นยอดขายสินค้า แต่คนไม่จับจ่ายใช้สอย เพราะความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวไม่ชัดเจน กำลังซื้อประชาชนยังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว

“ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดห้างสรรพสินค้าค่อนข้างเงียบ แต่มียอดใช้จ่ายในต่างประเทศเข้ามา ทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตเติบโต 6-7% ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำ เพราะปกติยอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก หรืออย่างต่ำเติบโต 9% โดยไตรมาส 2 ยอดใช้จ่ายยังทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสแรก และไตรมาส 3 จะเริ่มฟื้นตัว แต่โดยรวมในปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเต็มที่น่าจะเติบโต 10% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 13%”

ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นรายกลางและรายเล็ก หยุดออกแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่าย จะมีเพียงรายใหญ่ 2-3 ราย ที่ยังมีแคมเปญร่วมกับห้างสรรพสินค้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ระยะเวลาการจัดแคมเปญเพียง 3-5 วัน ไม่สามารถฉุดให้ยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นได้ แต่คาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3 ซึ่งกรุงศรีพร้อมเต็มที่ในการกระตุ้นให้ใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น และปีนี้เตรียมงบทำตลาด 2,000 ล้านบาท โดยจะเน้นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น สินค้าเงินผ่อน 0% เน้นไปที่กลุ่มท่องเที่ยว โทรศัพท์สมาร์ทโฟน กล้อง เครื่องใช้ไฟฟ้า และโรงพยาบาล เพราะตลาดในกลุ่มนี้ยังเติบโตได้อยู่

“สินเชื่อบุคคลปีนี้ ไม่เน้นและไม่เร่งปล่อย โดยไตรมาสแรก ยอดสินเชื่อบุคคลขยายตัว 3-4% จากเป้าหมายทั้งปีตั้งไว้ 8-9% เมื่อถึงสิ้นปีน่าจะเติบโตเพียง 5% ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้าง 130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ 58,000 ล้านบาท และบัตรเครดิต 72,000 ล้านบาท สิ้นปีเชื่อว่ายอดสินเชื่อคงค้างจะเพิ่มขึ้นเป็น 145,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไตรมาสแรกดีขึ้น โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3.3% จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 3.45% และเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.6% ใกล้เคียงกับปี 59 โดยสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าหมายคุมเอ็นพีแอลบัตรเครดิตไม่ให้เกิน 1.4% และสินเชื่อบุคคลไม่เกิน 3.2%”

ส่วนนางนพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารทรงตัว เกิดจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการใช้จ่ายมากนัก กลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรต่ำกว่าบัตรแพลตตินัม ยังระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับฐานของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีก่อนหน้าสูงถึง 320,000 ล้านบาท

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย.60 ว่า เท่ากับ 100.49 สูงขึ้น 0.38% เทียบกับเดือน เม.ย.59 สูงขึ้นเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน เม.ย.59 ที่สูงขึ้น 0.07% หลังจากก่อนหน้านี้ติดลบเป็นเวลาปีกว่า และสูงขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.60 ขณะที่เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 60 สูงขึ้น 1.03% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.38% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.73% สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น คือ น้ำมันเชื้อเพลิง, หมวดบันเทิง การอ่าน และการศึกษา, หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.26% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย.45 ที่ดัชนีลดลง 0.3% สาเหตุเพราะราคาผักและผลไม้ในปีที่ผ่านมาสูงขึ้นมากจากภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกเป็นรายการสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า สินค้ามีราคาสูงขึ้น 124 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ปลาทู ผักสดบางชนิด นมผง อาหารโทร.สั่ง (เดลิเวอรี่) ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ค่าทัศนาจรต่างประเทศ สินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 199 รายการ และสินค้าราคาลดลง 99 รายการ โดยสำนักงานฯยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 60 อยู่ระหว่าง 1.5-2.2% ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 3-4% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 50-60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35.5-37.5 บาท/เหรียญสหรัฐฯ

“แนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะสอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย และยิ่งเมื่อรถยนต์คันแรกเริ่มทยอยผ่อนชำระหมด และราคาสินค้าเริ่มดีขึ้น จะส่งผลให้ประชาชนมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี โดยกระทรวงจะดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีผลกระทบต่อกำลังซื้อ ส่วนการปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า (เอฟที) ที่จะมีผลในเดือนหน้านี้ คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.05% เท่านั้น”

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออกจากการคำนวณ เดือน เม.ย. 60 เท่ากับ 101.13 สูงขึ้น 0.50% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.59 และสูงขึ้น 0.02% เทียบกับเดือน มี.ค.60 ขณะที่เฉลี่ย 4 เดือน สูงขึ้น 0.61% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ