มหากาพย์แท็กซี่ไทย กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการลงโทษขั้นสูงสุดทุกประเด็นการร้องเรียน หวั่นเป็นภัยต่อสังคม กระทบชื่อเสียงประเทศ โทษหนักถึงขั้นพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และผู้ประกอบการต้องมีส่วนรับผิดชอบทุกกรณี
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 60 นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรณีปัญหาการให้บริการรถแท็กซี่ ทั้งที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามายังกรมการขนส่งทางบกโดยตรง หรือการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการลงพื้นที่กวดขันตรวจสอบพฤติกรรมการให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดจริงจังทุกกรณี โดยเฉพาะความผิดที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พิจารณาลงโทษพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที เช่น กรณีรถแท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน มช 3666 กรุงเทพมหานคร มีนายรุ่งนคร ดลกุล เป็นผู้ขับรถ มีพฤติกรรมปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาไม่สุภาพ ข่มขู่คุกคามผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถทันที 1 เดือน พร้อมเปรียบเทียบปรับในฐานความผิดปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร สูงสุด 1,000 บาท และแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพอีกเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท พร้อมส่งตัวเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับกฎระเบียบและจิตสำนึกในการขับรถที่ดี
นอกจากนี้ ยังบันทึกประวัติการกระทำความผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ เพื่อตรวจสอบและติดตามพฤติกรรมต่อไป ทั้งนี้ ได้ประสานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้พิจารณาควบคุมกำกับดูแลพฤติกรรมของแท็กซี่ที่เป็นสมาชิกอย่างเข้มงวดต่อไป และหากผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาความผิดตามข่าว ก็จะสามารถเอาผิดตามกฎหมายอื่นทั้งทางแพ่งและอาญาได้
ส่วนกรณี คนขับรถแท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน ทย 872 กรุงเทพมหานคร พยายามกระทำอนาจารต่อหญิงสาวชาวเมียนมา และพบประวัติมีหมายจับของศาลจังหวัดระยอง เมื่อปี 2558 ข้อหากระทำอนาจารแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น ตรวจสอบแล้วพบว่าศาลได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 19 พ.ย.58 ซึ่งเป็นการออกหมายจับหลังจากที่นายคมสรรณ์ได้รับใบอนุญาตขับรถสาธารณะแล้ว กรมการขนส่งทางบกจึงได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับรถของนายคมสรรณ์ทันที พร้อมลงโทษ บริษัท ทู-มิเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด เจ้าของรถ มาลงโทษ ฐานไม่จัดส่งประวัติผู้ขับรถ ปรับในอัตราขั้นสูงสุดพร้อมระงับการขอเพิ่มรถ
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างติดตามตัวผู้ขับรถมาดำเนินคดีอาญา ซึ่งได้เบาะแสพยานหลักฐานทั้งตัวรถและภาพจากกล้องวงจรปิดชัดเจน โดยกรมการขนส่งทางบกพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน และจะติดตามผลคดีอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้เร่งติดตามผลคดีกรณีคนขับรถแท็กซี่ขโมยเงินวิศวกรชาวอังกฤษ 500 ยูโร ขณะเรียกใช้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิให้ไปส่งพัทยา ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ม.ค.58 โดยนายพอล คริสโตเฟอร์ ชาปเลท ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ นายโยธิน สุวรรณวิจิตร ผู้ขับรถแท็กซี่ ที่สถานีตำรวจสุวรรณภูมิ ข้อหาขโมยเงินจำนวนเงิน 14,000 บาท ขณะที่นายพอลรอขึ้นรถแท็กซี่บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อไปพัทยา
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูล ไม่พบว่านายโยธินมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน กรมการขนส่งทางบกจึงบันทึกประวัตินายโยธินเป็นบุคคลซึ่งห้ามทำใบขับขี่รถสาธารณะต่อไป พร้อมประสานพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อติดตามผลคดีอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถขั้นสูงสุดต่อไป
นายสนิท กล่าวอีกว่า กรมการขนส่งทางบกมีขั้นตอนในการคัดกรองผู้ขับรถสาธารณะอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้โดยสาร ซึ่งจะสามารถติดตามรถ ติดตามตัวคนขับรถมาดำเนินการทางกฎหมายได้ทุกคน ได้ทุกคัน ที่กระทำความผิดทุกกรณี เนื่องจากมีประวัติฐานข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบกทุกประเภททุกคัน และผู้ขับรถได้รับการคัดกรองผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังมีมาตรการขั้นเด็ดขาดลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุดทุกกรณี มีมาตรการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถมาบังคับใช้สำหรับผู้ขับรถที่กระทำความผิดซ้ำซาก รวมถึงกรณีความผิดร้ายแรงและเข้าข่ายเป็นภัยสังคมหรือลามกอนาจาร มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศ พร้อมเข้มงวดกับผู้ประกอบการและเจ้าของรถ หากละเลยไม่กำกับดูแลคนขับรถ จะถูกจำกัดสิทธิในการขอจดทะเบียนเพิ่มจำนวนรถแท็กซี่ และในคดีที่ก่อเหตุร้ายแรงจะถูกเพิกถอนทะเบียนรถ ซึ่งผู้ประกอบการและเจ้าของรถต้องพร้อมให้ความร่วมมือกับทางราชการในการตรวจสอบเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนายกระดับมาตรฐานรถแท็กซี่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจความปลอดภัยในหลายโครงการอีกด้วย เช่น โครงการ TAXI OK / TAXI VIP โดยโครงการ TAXI-OK เป็นการยกระดับการให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบัน โดยการติดตั้ง GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับรถ กล้อง CCTV มีปุ่มฉุกเฉิน (ส่งข้อมูล Online มาที่ศูนย์ GPS ทันที) มีระบบแจ้งเตือนการใช้ความเร็ว รวมถึงจัดทำระบบเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงการให้บริการ เพิ่มความสะดวก ป้องกันปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร การไม่เปิดมิเตอร์ ติดตามพฤติกรรมตลอดการให้บริการ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ส่วนโครงการ TAXI VIP หรือรถแท็กซี่ชนิดพิเศษ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการให้บริการของประชาชน โดยใช้รถที่มีมาตรฐานขนาดตัวรถและสมรรถนะที่สูงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไป เพิ่มอุปกรณ์ส่วนควบสำหรับให้บริการที่มีความสะดวกมากขึ้น เพิ่มเติมจากข้อกำหนดการติดตั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ส่วนควบตามโครงการ TAXI OK อีกทั้งผู้ประกอบการต้องเป็นนิติบุคคล มีความพร้อมทางธุรกิจมีแผนการประกอบการแบบมืออาชีพ ซึ่งร่างกฎกระทรวงทั้งสองฉบับได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 23 ส.ค.59
ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดการสร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ตามโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ในวันที่ 21 เม.ย.60 นี้
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องเรียนการให้บริการที่ไม่พึงประสงค์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียนที่เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ทางสายด่วน 1584 ทางเว็บไซต์ กรมการขนสางทางบก Application ชื่อ ร้องเรียนรถสาธารณะ หรือ dlt check-in, FACEBOOK ชื่อ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 หรือ LINE ID ชื่อ 1584dlt
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ (GCC1111) ผ่านระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี ทางจดหมาย/หนังสือร้องเรียน ส่งมายังกรมการขนส่งทางบก หรือร้องเรียนด้วยตนเอง ได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กองตรวจการขนส่งทางบก อาคาร 3 ชั้น 4.