เปิดเงื่อนไข “คุณสู้ เราช่วย” มาตรการแก้หนี้ คลัง-แบงก์ชาติ หวังปลดหนี้เสียรายย่อย-SMEs 1.9 ล้านคน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดเงื่อนไข “คุณสู้ เราช่วย” มาตรการแก้หนี้ คลัง-แบงก์ชาติ หวังปลดหนี้เสียรายย่อย-SMEs 1.9 ล้านคน

Date Time: 11 ธ.ค. 2567 20:28 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • คลัง-แบงก์ชาติ เปิดโครงการแก้หนี้ "คุณสู้ เราช่วย" งัด 2 มาตรการเด็ด ช่วยรายย่อย-SMEs ปลดหนี้เสีย ปิดจบหนี้ไวขึ้น
  • สกัดวงจรโดนยึดบ้าน-รถ หมดโอกาสทำกิน เริ่มลงทะเบียน 12 ธ.ค.นี้ ผ่านเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย

Latest


 วันนี้(11 ธ.ค.2567) ครม.เห็นชอบโครงการแก้หนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ของกระทรวงการคลังซึ่งได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ล่าสุดเวลา 14.00 น. ธปท. มีกำหนดจัดงานพิธีลงนาม MOU และแถลงข่าวมาตรการแก้หนี้ โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ณ ห้องภัทรรวมใจ ชั้น 2 อาคาร 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้อธิบายถึงความสำคัญและที่มาของโครงการแก้หนี้ว่า หลังโควิดเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ธปท.จึงให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อกำกับสถาบันการเงินความเข้มงวดในการกำกับสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังการเป็นหนี้เสีย 


อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บางกลุ่มยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ขณะที่ภาระหนี้และค่าครองชีพหรือต้นทุน การประกอบธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง จำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้อยู่ 


กระทรวงการคลัง, ธปท., สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , สมาคมธนาคารไทย, สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง จึงได้ร่วมกันผลักดันมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม


โดยโครงการแก้หนี้ครั้งนี้ แตกต่างจากโครงการอื่นที่ดำเนินในช่วงที่ผ่านมา คือ 

1.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยเน้นตัดเงินต้น และลดภาระผ่อนในช่วง 3 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ 

2.ภาครัฐและสถาบันการเงิน ร่วมสมทบเงิน (Co-payment) ฝ่ายละ 50% เพื่อช่วยลดภาระจ่ายของลูกหนี้ 


ด้านพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ขนาดเล็ก ครอบคลุม 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท

สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการมาจาก 3 แหล่ง ซึ่งเป็นรับภาระดอกเบี้ยร่วมกันระหว่างภาครัฐและสถาบันการเงิน ได้แก่

1.เงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ) จำนวน 39,000 ล้านบาท

2.เงินงบฯ ตาม ม.28 เพื่อชดเชยให้ SFIs 6 แห่ง จำนวน 38,920 ล้านบาท

3.เงินสมทบจากสถาบันการเงิน

รายละเอียดโครงการแก้หนี้ คุณสู้ เราช่วย

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”

เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ย โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิมในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขตลอดระยะเวลามาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ) จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งหมด

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”

เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

ในช่วงเริ่มต้น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม โดยขณะนี้กำลังหารือเรื่องที่มาของแหล่ง คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าอย่างช้าในต้นปี 2568

ลูกหนี้ประเภทไหน เข้าร่วมโครงการได้บ้าง

คุณสมบัติลูกหนี้ มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”

1. มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้

  • สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
  • สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
  • สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด

2. เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567

3. มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

คุณสมบัติลูกหนี้ มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”

1. ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567

2. มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)

สมัครเข้าร่วมโครงการแก้หนี้ที่ไหน

ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 23.59 น.

ทั้งนี้ ลูกหนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ