FTA ไทย–EFTA เจรจาสำเร็จ!!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

FTA ไทย–EFTA เจรจาสำเร็จ!!

Date Time: 5 ธ.ค. 2567 04:30 น.

Summary

  • FTA ไทย–EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป มีสมาชิกคือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) เจรจาเสร็จสิ้นแล้ว และประกาศความสำเร็จของการเจรจา

Latest

ธ.ก.ส. เสริมสภาพคล่อง ข้าราชการยามเกษียณ ออกสินเชื่อ “บำเหน็จตกทอด” กู้สูงสุด 100% ผ่อนนาน 40 ปี

หลังจากที่ไทยลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา เมื่อเดือน ก.พ.67 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด หรือฉบับที่ 15 ที่ไทยทำกับประเทศคู่ FTA ไปแล้ว

โดย “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ (ขณะนั้น) ลงนามกับ “นายกัจจกธุเค นลิน รุวันชีวะ เฟอร์นานโด” รมว.การค้า พาณิชย์ และความมั่นคงทางอาหาร ศรีลังกา

มาวันนี้ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์คนปัจจุบัน ได้ประกาศข่าวดีอีกครั้ง!!

FTA ไทย–EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป มีสมาชิกคือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) เจรจาเสร็จสิ้นแล้ว และประกาศความสำเร็จของการเจรจา

หลังจากเริ่มเจรจามาตั้งแต่เดือน มิ.ย.65 โดย “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ (ยุคนั้น) ประกาศเปิดเจรจาร่วมกับ รมต.การค้าของ 4 ชาติสมาชิกที่สาธารณรัฐไอซ์แลนด์

นับเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับยุโรป และมีมาตรฐานสูงที่สุดเท่าที่ไทยเคยทำ FTA มา ถือเป็น FTA ยุคใหม่ (New Generation FTA) เพราะรวมประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา แข่งขันทางการค้า การพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าไปด้วย จึงเป็นโอกาสของไทยในการยกระดับมาตรฐานและกฎระเบียบให้เป็นสากลมากขึ้น

โดยเร็วๆ นี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะลงนามร่วมกันที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงการประชุม World Economic Forum เดือน ม.ค.68 ซึ่งทั้ง “นายพิชัย” และ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯจะเข้าร่วมประชุมด้วย

และหลังจากนั้นจะเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนที่ไทยจะให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ข้อมูลจาก “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า FTA ฉบับนี้จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนผ่านการลด/เลิกภาษีศุลกากร และลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคและผู้นำเข้าในการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า

โดยสินค้าที่คาดส่งออกไป EFTA มากขึ้นจากการที่ EFTA ลดภาษีให้ไทย เช่น ข้าว ข้าวโพดหวาน เนื้อสุกรและเครื่องใน อาหารทะเลแปรรูป เครื่องแต่งกาย ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ปรุงรส ฯลฯ

ส่วนสินค้าที่ไทยจะนำเข้าจาก EFTA เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง ปุ๋ยเคมี นาฬิกาและส่วนประกอบ

ขณะที่ด้านการลงทุน ไทยจะดึงดูดการลงทุนจาก EFTA มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาบริการการเงิน โทรคมนาคม บริการด้านสุขภาพ พลังงานสะอาด บริการด้านวิชาชีพ ฯลฯ ส่วนสาขาที่คาดว่าไทยจะไปลงทุน เช่น ธุรกิจค้าปลีก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป พลังงาน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม FTA นี้ มีมาตรฐานสูง อาจทำให้ไทยต้องปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานบางเรื่อง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องใช้เวลาปรับตัว พัฒนาศักยภาพรองรับการแข่งขัน และใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ด้วย.

ฟันนี่เอส

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ