เปิด “13 ตระกูลดัง” เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ เมืองไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิด “13 ตระกูลดัง” เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ เมืองไทย

Date Time: 21 ต.ค. 2567 15:31 น.

Video

"ROCTEC กับการเติบโตครั้งสำคัญ เมื่อ BTS เข้าถือหุ้น" | Money Issue

Summary

  • เปิด “13 ตระกูลดัง” เมืองไทย เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ เจาะตลาดมูลค่า 8 หมื่นล้าน เมื่อเทรนด์ “ซื้อสังคมให้ลูก” มาแรง! ในหมู่ผู้ปกครองคนไทย

โรงเรียนนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตแรง สวนสภาพเศรษฐกิจไทย แต่อีกแง่ อาจสะท้อนได้ว่า ปัจจุบัน กลุ่มคนรวย - คนมั่งคั่ง มีมากขึ้นในสังคมไทย

เมื่ออัตราค่าเล่าเรียนต่อปีที่เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 125,000 บาท/ปี ไปจนถึงประมาณ 1,000,000 บาท/ปี กลายเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าของเหล่าบรรดาผู้ปกครองที่ต้องการ “ซื้อสังคมให้บุตรหลาน”

สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า ความนิยมโรงเรียนนานาชาติมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด คาดทั้งปี 2567 ตลาดโรงเรียนนานาชาติจะเติบโต 13% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ซึ่งนอกจากมาจากกำลังซื้อของคนไทยระดับบนแล้ว กลุ่มผู้ปกครองหลากหลายสัญชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เรื่อยไปจนถึงชาว CLMV (ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์) ที่มีฐานะดี ยังเป็นแรงหนุนที่สำคัญอีกด้วย

นี่เองทำให้เริ่มเห็นการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติออกสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี เขาใหญ่ และภูเก็ต จนกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่

เจาะข้อมูลเชิงลึก “สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ Property DNA บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า ปัจจุบัน ตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ นักธุรกิจ และครอบครัวนักธุรกิจหลายตระกูลดังของเมืองไทย

โดยบางรายมีการลงทุนในโรงเรียนนานาชาติต่อเนื่องมานานกว่า 10 กว่าปีแล้ว ขณะที่บางส่วนมีการแตกไลน์ธุรกิจมายังโรงเรียนนานาชาติเมื่อไม่นานมานี้เอง เพราะถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถสร้างรายได้ได้อย่างชัดเจน

ผ่านทั้งรูปแบบลงทุนพัฒนาเอง และเทกโอเวอร์บางโรงเรียนที่ประสบปัญหาการเงิน โดยกลุ่มธุรกิจหรือตระกูลที่มีการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติของตนเอง มีดังต่อไปนี้

เปิด 13 ตระกูลดัง เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ เมืองไทย  

1.กลุ่มธนาคารกรุงเทพ ของ “ตระกูลโสภณพนิช” โดย ชาลี โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด ได้ลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ และพัฒนาโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีทั้งที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และที่พระราม 9

2.วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ 1 ใน “ตระกูลเจียรวนนท์” ลงทุนพัฒนาโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน

3.กลุ่มบีทีเอส ของ “ตระกูลกาญจนพาสน์” นอกจากรถไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ยังมีโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ซึ่งใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เปิดเมื่อปี 2563 มีบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือของบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือร่วมทุนกับบริษัทฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากประเทศฮ่องกง

4.กลุ่มสหพัฒน์ ของ “ตระกูลโชควัฒนา” เจ้าของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษา ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจ กรุงเทพ เมื่อปี 2563

5.“ตระกูลปาลเดชพงศ์” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเด่นหล้า เข้าสู่ธุรกิจนี้มานานกว่า 10 ปี และยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดลงทุน 600 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติ DLTS รองรับความต้องการโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มมากขึ้น

6.“ตระกูลธรรมวัฒนะ” ได้เข้าสู่ธุรกิจนี้เช่นกัน โดยบริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด และบริษัท บีจีที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการร่วมลงทุนของ 2 พี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะ ด้วยวงเงิน 1,200 ล้านบาท พัฒนาโรงเรียนนานาชาติไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล

7.“กลุ่มอัสสกุล” โดยบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีเพียงธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ยังลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมีโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ ที่เขาใหญ่ และกรุงเทพอีกด้วย

8.บริษัท อาร์ทูดีวัน จำกัด โดย “เพ็ญสิริ ทองสิมา” เปิดโรงเรียนนานาชาติเบซิส ย่านพระราม 2 โดยร่วมกับบริษัท บีไอเอสบี จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ด้วยเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท

9.“ตระกูลทีปสุวรรณ” โดย ทยา ทีปสุวรรณ ร่วมกับหุ้นส่วนลงทุน 1,500 ล้านบาท พัฒนาโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ซึ่งเป็นแบรนด์โรงเรียนจากประเทศอังกฤษ บนที่ดินกว่า 200 ไร่ในจังหวัดชลบุรี และกำลังพัฒนาบ้านหรูรองรับ

10.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยทายาทรุ่นที่ 3 “ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” ซึ่งได้เปิดโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ ด้วยหลักสูตรแบบอังกฤษ

11.คันทรี่ กรุ๊ป ของ “ตระกูลเตชะอุบล” มีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสบนถนนพระราม 3 ด้วยมูลค่า 32,000 ล้านบาท ซึ่งในนี้มีโรงเรียนนานาชาติด้วย

12.กลุ่มอรสิริน โฮลดิ้ง ที่มี “ตระกูลบูรณุปกรณ์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นอกจากพัฒนาโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมแล้ว ล่าสุดกำลังก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติมิลล์ฮิลล์ เป็นแบรนด์จากอังกฤษ จะเปิดให้บริการเฟสแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2568

13.กลุ่มสยามกลการ ของ “ตระกูลพรประภา” ผู้บุกเบิกธุรกิจรถยนต์และอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย กำลังทุ่มเงินก้อนโตลงทุนโรงเรียนนานาชาติที่พัทยา บนพื้นที่ 1,000 ไร่

ทั้งนี้ คาดว่า ในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ จะมีการพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสอดรับศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 34 ล้านบาท ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ซึ่งนับเป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยนั่นเอง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ