ไทย เป้าหมาย “แรงงานต่างด้าว” ล้นระบบ 1.3 ล้านคน สังคมสูงวัยขั้นสุด จุดเปลี่ยน อนาคต กลุ่มทักษะสูง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย เป้าหมาย “แรงงานต่างด้าว” ล้นระบบ 1.3 ล้านคน สังคมสูงวัยขั้นสุด จุดเปลี่ยน อนาคต กลุ่มทักษะสูง

Date Time: 17 ก.ย. 2567 08:53 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • "ไทย" พึ่งแรงงานต่างด้าว ทำงานทักษะต่ำ ล้นระบบประกันสังคม 1.3 ล้านคน จีนแห่เข้าไทย ทำงานรายได้มากกว่า 15,000 บาท ปัญหาสังคมสูงวัยจุดเปลี่ยน กดดันรัฐบาลไทย ดึงแรงงานทักษะสูง แข่งคนไทย

ท่ามกลางกระแส “โลกาภิวัตน์” ที่เชื่อมโยงคนทั่วโลกเข้าด้วยกัน โอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น กระตุ้นให้หลายคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในบ้านเกิด ดั่งวลีที่เขาว่าคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

โดย “ไทย” ถือเป็นดินแดนแห่งความหวังของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ ลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่ส่วนใหญ่ลี้ภัยสงครามและความแร้นแค้นในประเทศ มาเป็นแรงงานสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แทนคนไทยที่เกิดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตไปแล้ว ซ้ำร้ายไทยยังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2565 ปัจจุบันไทยจึงพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากถึง 11% ของแรงงานทั้งหมดในระบบประกันสังคม

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตต่ำหลังโควิด ศักยภาพการแข่งขันที่ถดถอยลงทุกด้าน ทำให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจรัดเข็มขัด จ้างงานน้อยลง เพื่อประคองต้นทุนให้อยู่รอด ในช่วงครึ่งปีแรกเราจะเริ่มเห็นสัญญาณความเปราะบางที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานอย่างชัดเจน จากการทยอยปิดโรงงานและกิจการขนาดกลางถึงขนาดเล็ก งานที่หายากขึ้น โดยเฉพาะงานระดับล่างในภาคบริการที่ไม่ต้องการทักษะมากนัก กดดันให้คนไทยบางกลุ่มเกิดความกังวลว่าแรงงานต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเข้ามาแย่งงาน

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ของไทย โตขึ้น 15% จาก 10.2 ล้านคนในปี 2557 เป็น 11.9 ล้านคนในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคน) โดยกว่า 55% ของลูกจ้างในระบบที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจำนวนลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างชาติ ทำให้ปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างชาติในระบบทั้งหมด 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้แรงงานต่างชาติเริ่มมีจำนวนสูงขึ้นในปี 2560 และชะลอลงในช่วงโควิดระหว่างปี 2562–2563 จนในปี 2565 จำนวนแรงงานต่างชาติในไทยได้ฟื้นตัวกลับมาเท่าระดับก่อนช่วงโควิดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแยกตามรายสัญชาติ พบว่าแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยมากที่สุดเป็น 7 อันดับแรก ณ ปี 2566 ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยแรงงานจากประเทศเมียนมา กัมพูชา ลาว และจีนเพิ่มมากที่สุด ในขณะที่แรงงานจากสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยลง

อย่างไรก็ตามแม้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไทยจะพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาสังคมสูงวัย แต่เมื่อพิจารณาระดับรายได้ จากข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม ปี 2566 จะเห็นว่าแรงงานต่างชาติในระบบ 1.3 ล้านคน ส่วนใหญ่ได้เงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท ซึ่ง 89% เป็นแรงงานทักษะต่ำจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ส่วนแรงงานที่ได้เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทขึ้นไป เป็นแรงงานทักษะกลางถึงสูง ซึ่งมีเพียง 1.5 แสนคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเมียนมามากที่สุด 27,441 คน ตามมาด้วยแรงงานจีน 23,365 คน และญี่ปุ่น 17,031 คน ชี้ให้เห็นว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านและจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งคนไทยในงานที่เน้นทักษะกลางถึงสูงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวทักษะสูงราว 86,830 คน

ทั้งนี้ในอีก 5 ปี (2572) ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี สัดส่วนมากกว่า 20% สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มองว่า ท่ามกลางปัญหาสังคมสูงวัย และอัตราเฉลี่ยการเพิ่มของแรงงานไทยในระบบอยู่ที่ 0.81% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในอนาคตเราอาจต้องมีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยต้องมีการปรับตัวเชิงนโยบาย เช่น การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติให้ครอบคลุมเพื่อป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจตามมา หรือให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติมาทำงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น

ที่มา

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ