จับตา 7 นโยบายเร่งด่วน รัฐบาล “แพทองธาร” กู้สัญญาณชีพ เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไหนได้ - ธุรกิจไหนเสีย?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา 7 นโยบายเร่งด่วน รัฐบาล “แพทองธาร” กู้สัญญาณชีพ เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไหนได้ - ธุรกิจไหนเสีย?

Date Time: 13 ก.ย. 2567 16:10 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ประเมินผลกระทบ 7 นโยบายเร่งด่วน กู้เศรษฐกิจไทย ของครม.แพทองธาร ภายใต้แนวคิด "มุ่งแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้" ธุรกิจไหนได้-ธุรไหนเสีย ประโยชน์

Latest


จับตา 7 นโยบายเร่งด่วน แก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล "แพทองธาร" ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย "มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี" ไปด้วยกัน

เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ครม.แพทองธารได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน โดยในการแถลงนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ได้กล่าวถึง 9 ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ประเทศไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า ได้แก่


1.ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 

2.การเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่าระดับการพัฒนาประเทศและเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 

3.ความมั่นคง ปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด

4.SMEs กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้เสีย ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs เพิ่มสูงขึ้น

5.ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว 

6.สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลกระทบภาคเกษตรกรรม-ท่องเที่ยว

7.ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนานอันเป็นผลจากการรัฐประหาร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุน

8.ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ไม่เต็มที่

9.สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป การแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ การกีดกันทางการค้า


ทั้งนี้ความท้ายทายดังกล่าว เป็นผลมาจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่สั่งสมต่อเนื่องมากว่า 10 ปีและถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตโดยเร็ว รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ ผ่าน 10 นโยบายเร่งด่วน เพื่อแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับประชาชน


7 นโยบายเร่งด่วน ฟื้นเศรษฐกิจ

โดย 10 นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที ประกอบด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 7 นโยบายดังนี้ 


นโยบายที่ 1 ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ผ่านนโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ 

นโยบายที่ 2 ส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ SMEs จากการคู่แข่งทางการค้าต่างชาติโดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ปัญหาหนี้ของ SMEs ผ่านการทำ Matching Fund 

นโยบายที่ 3 มาตรการลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ปรับปรุงกฎหมายสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA)  หาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมกำหนดใช้อัตราค่าโดยสารในกรุงเทพมหานคร "ราคาเดียว" ตลอดสาย (นโยบาย 20 บาทตลอดสาย)

นโยบายที่ 4 สร้างรายได้ใหม่นำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี  ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 50% ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษาสาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน

นโยบายที่ 5 กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นที่กลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรกและผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

นโยบายที่ 6 ยกระดับการทำเกษตรเป็นเกษตรทันสมัย ภายใต้แนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ อย่างอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก”

นโยบายที่ 7 ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการสานต่อมาตรการฟรีวีซ่า เพื่ออำนวยความสดวกแก่ผู้ขอวีซ่าในกลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล(Digital Nomad) ส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ด้วยการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) 


นโยบาย ครม.แพทองธาร ธุรกิจไหนได้-เสีย?

เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนในสมัยรัฐบาลเศรษฐา พบว่า นโยบายเร่งด่วนของ ครม. ชุดใหม่ เป็นการสานต่อนโยบาย ครม. ชุดก่อน โดยเน้นเป้าหมายไปที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง โดย SCB EIC ประเมินว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้น จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ท่องเที่ยว และภาคเกษตร เช่น ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม  ในขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนจากการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท รวมถึงธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้ จากมาตรลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค


ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า หากภาครัฐสามารถดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้ตามแผนล่าสุด โดยแบ่งใช้วงเงินเป็น 2 ระยะ จะช่วยหนุนการเติบโต GDP ปี 2025 ที่ประมาณ  0.5 - 0.7% สู่ระดับ 3.3% จากกรณีฐาน 2.6%

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ