ไทย “ขาดดุล” จีน พุ่ง! มูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ แอป TEMU สินค้าจีนราคาถูกซ้ำเติมวิกฤติปิดโรงงาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย “ขาดดุล” จีน พุ่ง! มูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ แอป TEMU สินค้าจีนราคาถูกซ้ำเติมวิกฤติปิดโรงงาน

Date Time: 7 ส.ค. 2567 13:52 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • กกร. เผย 6 เดือนแรก ไทย “ขาดดุล” จีน พุ่ง! มูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เหตุนำเข้าสินค้าจีนจำนวนมาก ห่วงแอป TEMU สินค้าจีน ราคาถูก ส่งตรงจากโรงงาน ซ้ำเติมวิกฤติ “ปิดกิจการ” อุตสาหกรรมไทย แนะรัฐ คุมเข้มสินค้าไม่ได้มาตรฐานเลี่ยงภาษี และปรับโครงสร้างการผลิต เป็นทางรอด

แอปพลิเคชัน TEMU แพลตฟอร์มขายสินค้าจีน ราคาถูก จากโรงงาน ผ่านโมเดลลดราคาสูงสุด 90% ซึ่งไม่ต่างจาก การขายตัดราคา สินค้าไทย กำลังเป็นศึกการแข่งขันครั้งใหญ่ ของ SMEs ไทย เพราะแม้จะเข้ามาจดทะเบียนการค้าอย่างถูกกฎหมายในไทย แต่ ราคาต่ำพร้อมสู้ทุกคู่แข่ง และไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าได้ ก็เป็น 1 ในความเสี่ยง อาจทำลายตลาดการค้าไทยได้ 

เช่นเดียวกับ ข้อกังวลล่าสุด ของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดย “ผยง ศรีวณิช” และ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และตัวแทน สภาหอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า กกร. มีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12%YoY คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.66%YoY ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้ 

ไทยเผชิญภาวะ Over Supply สินค้าจีนทะลัก



ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะ Over Supply ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศและกติกาสากล

ในที่ประชุม กกร. ยังได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67%YoY ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI 

โรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นกว่า 83% สะท้อนภาพ SMEs ไปต่อยาก

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +86.31%YoY หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น


ดังนั้น กกร. จึงอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในราย  Sector การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับ EV และ Transform ไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SMEs การบริหารจัดการ waste ของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ Industry 4.0


ทั้งนี้ จากการที่รัฐมีข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยมีการลงทุนน้อย มีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ต่ำกว่า 25% ลดลงจากที่เคยสูงเกือบ 30% ในขณะที่มีการออมในระดับสูงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีเงินทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นซึ่งเป็นการเสียโอกาสในการนำเม็ดเงินมาลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตภายในประเทศ ที่ประชุม กกร. เห็นตรงกับภาครัฐว่าประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์