“หนี้เสีย” บัตรเครดิต พุ่ง 1 ล้านใบ แบงก์ชาติ เร่งหารือสถาบันการเงิน จูงใจคนจ่ายขั้นต่ำ 8%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“หนี้เสีย” บัตรเครดิต พุ่ง 1 ล้านใบ แบงก์ชาติ เร่งหารือสถาบันการเงิน จูงใจคนจ่ายขั้นต่ำ 8%

Date Time: 6 ส.ค. 2567 12:51 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • แบงก์ชาติ เผยลูกหนี้ 90% พร้อมจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% มาตรการตรึงขั้นต่ำ ช่วยคนเพิ่มสภาพคล่อง ปิดจบหนี้เร็วขึ้น หารือสถาบันการเงิน ตั้งวงเงิน 1,000 ล้านบาท จูงใจคนจ่ายขั้นต่ำตั้งแต่ 8% ขึ้นไป ได้เครดิตเงินคืนทุก 3 เดือน เริ่ม 1 ม.ค. 2568

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ได้อัปเดตความคืบหน้า การปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และชี้แจงสาเหตุการตรึงอัตราการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ระดับ 8% ไปจนถึงสิ้นปี 2568 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ด้วยสถานการณ์ "หนี้ครัวเรือนไทย" ที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.8% จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอลงหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ โดย ณ ไตรมาส 1/2567 พบว่า หนี้บ้านมีสัดส่วนสูงสุดที่ 34% ตามมาด้วย หนี้ส่วนบุคคล 25% ในขณะที่หนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 3% ที่ผ่านมาแบงก์ชาติจึงได้ออกมาตรการแก้หนี้ เร่งรัดให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ไหลเป็น NPL ภายใต้เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible lending) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567


โดยการตรึงอัตราการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 8% ไม่ปรับขึ้นสู่ระดับปกติ 10% ในปี 2568 เป็นมาตรการที่เพิ่มขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว ให้สามารถชำระหนี้และมีสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมถึงจูงใจให้ลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำตั้งแต่ 8% ขึ้นไป ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้


1. ผ่อนปรนอัตราการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต โดยคงไว้ที่ระดับ 8% จากเดิมที่จะปรับเข้าสู่เกณฑ์ปกติที่ระดับ 10% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 จนถึงสิ้นปี เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง


2. ลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำตั้งแต่ 5% แต่ไม่ถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อแบ่งจ่ายเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ การอนุมัติวงเงินให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถาบันการเงิน ลูกหนี้ที่มีวินัยชำระหนี้สม่ำเสมอ แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึงขั้นต่ำ 8% จะมีโอกาสได้รับการอนุมัติวงเงินมากกว่า


3. ทั้งนี้ แบงก์ชาติได้หารือรวมกับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการบัตรเครดิตในการให้เครดิตเงินคืน วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท แก่ลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตตั้งแต่ 8% ขึ้นไป เพื่อจูงใจให้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง โดยตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 ลูกหนี้จะได้รับเครดิตเงินคืน เทียบเท่าการลดดอกเบี้ย 0.5% ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก และ 0.25% สำหรับครึ่งปีหลัง ของปี 2568 โดยจะได้รับคืนทุก 3 เดือน 


แบงก์ชาติมั่นใจ คนไทยจ่าย Min pay 8% ไหว

สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบธรุกิจ แล้วจำแนกสัดส่วนบัญชีเครดิต ตามระดับ Min pay พบว่า ข้อมูลล่าสุดเดือน พ.ค. 2567 บัญชีบัตรเครดิตราว 93% ที่สามารถจ่ายขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% ได้ โดยมีเพียง 7% เท่านั้นที่จ่ายน้อยกว่าขั้นต่ำ ทั้งนี้ แนวโน้มกลุ่มคนที่จ่ายน้อยกว่าขั้นต่ำ 8% มีสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปรับขึ้นขั้นต่ำจากระดับ 5% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งมีบัญชีบัตรเครดิตมากถึง 21% ที่จ่ายน้อยกว่าขั้นต่ำ 8% แสดงให้เห็นว่าการปรับขั้นต่ำการจ่ายบัตรเครดิตดังกล่าว ช่วยให้คนมีวินัยในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจ่าย Min Pay ที่ 8% ทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายหนี้คืนโดยรวมน้อยกว่า และปิดจบได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับการจ่าย Min Pay 5%

แก้หนี้ไม่ตอบโจทย์ NPL บัตรเครดิตพุ่ง 1 ล้านใบ

แม้ช่วงที่ผ่านมาแบงก์ชาติจะออกมาตรการแก้หนี้ให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้หนี้ปกติกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) แต่ข้อมูลล่าสุดของเครดิตบูโร พบว่าหนี้เสียบัตรเครดิตพุ่งสูงถึง 1.1 ล้านใบ มูลค่า 64,000 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2567 สิ่งนี้กำลังสะท้อนว่ามาตรการของแบงก์ชาติไม่ตอบโจทย์ในการช่วยลูกหนี้หรือไม่ อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ชี้แจงว่า

การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่ทั่วถึง มีสาเหตุมาจากสถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ โดยเฉพาะสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured) ซึ่งลูกหนี้กว่า 60% ไม่สามารถติดต่อได้ และเมื่อติดตามพฤติกรรมกลุ่มลูกหนี้บนโซเชียล ก็พบว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่ ยังมีพฤติกรรมไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ รอมีเงินแล้วค่อยกลับมาจ่าย

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์