การหลั่งไหลเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อย่างคึกคัก
หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ ถูกจับตามองอย่างมาก ว่าจะผงาดขึ้นมาเป็น “ดาวเด่น” ของโลกการค้า การลงทุน และขนาดเศรษฐกิจ ที่มีอัตราการเติบโตสูงในระยะอันใกล้นี้ได้ไม่ยาก ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ ฝั่งยูโรโซน และอเมริกา มีแนวโน้มถดถอย เสื่อมบทบาทลง
ขณะล่าสุด สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ยังประเมินว่า “ประเทศไทย” ติดอันดับประเทศ ที่ “ต่างชาติ” ต้องการขยายฐานการลงทุนสูงสุดของอาเซียน ตอกย้ำธุรกิจระหว่างประเทศ เชื่อมั่นในภูมิภาคแห่งนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับ ความนิยม ในประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่เบียดแข่งขันกับประเทศไทยอย่างน่าจับตามอง
"ชาติศิริ โสภณพนิช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุใน งานสัมมนาใหญ่ประจำปี AEC Business Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ “ASEAN Rising : Capture New Growth” ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกหลายมิติ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีฐานะ เป็น ‘สถาบันการเงินชั้นนำของภูมิภาค’ พร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจต่างๆ อย่างเต็มที่
หลังเชื่อมั่นว่า แม้ขณะนี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงหลายมิติ แต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสให้ไขว่คว้า ขณะที่ “อาเซียน” ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ถูกมองว่าจะเป็นแม่เหล็กสำคัญ ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในระยะ 5 ปีข้างหน้าได้อย่างดี
เพราะทั้ง 10 ประเทศ ยังสามารถรักษาตำแหน่ง พื้นที่ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ดีเยี่ยม และมีจุดเด่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ 650 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ที่กำลังมีบทบาทของโลกเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน ทั้งกำลังซื้อ และแรงงานที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นแหล่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตของโลกอีกด้วย
เช่นเดียวกับความพร้อม ด้านสาธารณูปโภค และเส้นทางการค้า-การขนส่งโลจิสติกส์ ที่เชื่อมต่อถึงกันทั้งภูมิภาค เช่น รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และไทยยังจับมือมาเลเซีย ดันรถไฟความเร็วสูง 5 ชาติ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ภูมิภาค
“เชื่อมั่นว่า อาเซียนจะผงาดขึ้นอยู่ในตำแหน่งสำคัญของโลกการค้าและเศรษฐกิจ ภายใต้ทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศ มลพิษ และความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
ซีอีโอ ธนาคารกรุงเทพ ยังเชื่อว่า ในปี 2567 ภูมิภาคอาเซียน จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ราว 4% ผ่านการเติบโตในโลกการค้า และการลงทุนหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะโอกาสสำคัญ ที่อาเซียน อยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ เป็นประตูสู่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างอินเดียและจีน
ซึ่งด้วยความพร้อมต่างๆ และการแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ต่อกัน ยิ่งจะทำให้ อาเซียน มีความน่าสนใจ ในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศจีน เช่น การแห่เข้ามาลงทุน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ของจีน ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ของภูมิภาคอาเซียน ยังมีปัญหาและข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ให้ต้องเร่งแก้ไข เช่น กฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งหากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะเป็นส่วนสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆ และช่วยส่งเสริม การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้ได้อย่างดี
สำหรับอุตสาหกรรมดาวเด่น หรือ ASEAN RISING ที่เป็นโอกาสและคาดว่าจะเติบโตสูงในการลงทุนของอาเซียนในยุคหน้า ได้แก่
ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว ยังมีการเจาะลึกรายละเอียด ถึงประเทศสุดฮอตของอาเซียน เช่น 'อินโดนีเซีย' ที่เป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยมูลค่า GDP กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 3.7% และ 5.3% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ต่อด้วย 'เวียดนาม' เป้าหมายการลงทุนที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีปริมาณเงินลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) สูงสุดในรอบทศวรรษ บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Dell, Google, Microsoft และ Apple ต่างพากันย้ายห่วงโซ่อุปทานบางส่วนมาที่นี่แล้ว และเชื่อว่าจะมีมาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ด้วยอานิสงส์ของกลยุทธ์ “จีน+1” (China plus one) เป็นต้น