ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย ตลาดซื้อ-ขาย “ที่ดิน” ยังชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยได้รับแรงกดดัน จากการปรับขึ้นของ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ติดต่อกัน 5 ครั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2566 มาอยู่ที่ 2.5% รวมถึง การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. อีกทั้ง ภาวะหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 90% ของ GDP
ทำให้ ตลาดที่อยู่อาศัย ยังไม่สดใส ผู้พัฒนาที่ดินฯ รายใหญ่ ลดการซื้อถือครองที่ดินเปล่าลงไปด้วย เพราะไม่เพียงแต่เสี่ยงกับ “กำลังซื้อ” บ้าน-คอนโดมิเนียมที่ลดลง ยังเจอกับต้นทุนเพิ่ม จากการที่ รัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราในปีนี้
ทำให้ภาพรวม ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้นแค่ 3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปีก่อน และขยับขึ้นเพียง 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำ เพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว ที่ปกติ จะขยับสูงต่อไตรมาสราว 4.1% สะท้อน อัตราเร่งของดัชนีราคาที่ดิน ในช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤติ สูงกว่าปัจจุบัน ถึงประมาณ 5 เท่า
5 ทำเล ราคาที่ดิน เพิ่มขึ้นสูงสุด
สำหรับโซน หรือ ทำเล ที่มีอัตราการขยายตัวของ “ราคาที่ดิน” สูงสุด ในไตรมาสนี้ พบกระจุกตัว อยู่ในพื้นที่ชานเมืองของ กทม. ที่ปรับตัวสูงกว่า พื้นที่ กทม.ชั้นใน โดยเฉพาะ ที่ดินโซนจังหวัดนครปฐม
- อันดับ 1 ที่ดินในโซนนครปฐมมีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึง 62.5%
- อันดับ 2 ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคา 22.3%
- อันดับ 3 ที่ดินในโซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ มีอัตราการเปลี่ยนราคา 7.9%
- อันดับ 4 ที่ดินในโซนตลิ่งชัน-บางแค-ภาษีเจริญ-หนองแขม-ทวีวัฒนา-ธนบุรี-คลองสาน-บางพลัด-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ มีอัตราการเปลี่ยนราคา 14.9%
- อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน มีอัตราการเปลี่ยนราคา 6.8%
ที่ดินทำเลรถไฟฟ้า สายสีเขียว ยังขยายตัวสูงสุด
สำหรับ “ราคาที่ดินเปล่า” ก่อนการพัฒนา แนวเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 นี้ พบส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเป็นโครงการในอนาคตที่มีการเชื่อมต่อกับพื้นที่สำคัญด้านพาณิชยกรรมและเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้
- อันดับ 1 ได้แก่ สายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) และ สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นโครงการในอนาคตและโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 254.9 จุด และ 251.1 จุด ตามลำดับ และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 17.9% โดยราคาที่ดินในเขตเมืองสมุทรปราการและพระสมุทรเจดีย์ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
- อันดับ 2 ได้แก่ สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 430.0 จุด และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 15.5% โดยราคาที่ดินในเขตทวีวัฒนา บางกรวย และพุทธมณฑลเป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
- อันดับ 3 ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (บางแค-สาย 4) เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 428.8 จุด และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 14.9% โดยราคาที่ดินในเขตหนองแขมและบางแคเป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
- อันดับ 4 ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) สายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 502.4, 495.2 และ 487.6 จุด ตามลำดับ โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 8.6% ทั้งนี้ มีราคาที่ดินในเขตบางกอกน้อย ธนบุรี คลองสาน และห้วยขวาง เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก
- อันดับ 5 ได้แก่ สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 479.8 จุด และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 8.3% โดยราคาที่ดินในเขตบางซื่อ และบางกรวยเป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก