จีดีพีเป็นเรื่อง “สมมติ” แต่ “กู้เงิน” เป็นเรื่อง “จริง”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จีดีพีเป็นเรื่อง “สมมติ” แต่ “กู้เงิน” เป็นเรื่อง “จริง”

Date Time: 3 ต.ค. 2566 05:44 น.

Summary

  • ผมกลายเป็นคน “หลอนตัวเลข” ของทางราชการมาโดยตลอด รวมทั้งเมื่อมาอยู่ สภาพัฒน์ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ตัวเลข GDP ของเพื่อนๆจากกองที่ทำหน้าที่จัดทำตัวเลข GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ก็จะใช้ด้วยความระมัดระวัง

Latest

ออมสิน ช่วยน้ำท่วมภาคใต้ พักจ่ายเงินต้น-ไม่คิดดอกเบี้ย ลูกหนี้รายย่อย-SMEs  นาน 3 เดือน

เมื่อตอนหนุ่มๆผมมีโรคประจำตัวอย่างหนึ่งคือโรค “หวาดระแวง” หรือโรค “ประสาทหลอน” เวลาไปเจอเรื่องอะไรๆที่ร้ายๆ หรือโหดๆเข้าก็จะรู้สึกระแวง จดจำฝังใจไปนานแสนนาน

เช่น ผมเคยไปทำฟันอุดซี่ที่ผุ คุณหมอฟันท่านกรอโน่นกรอนี่รอบๆฟันผมอยู่พักใหญ่ เสียงดังแกรกกราก ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวไปทั้งฟันทั้งกราม...ต่อมาพอได้ยินเสียงอะไรแกรกกรากคล้ายการกรอฟัน ก็จะรู้สึกเสียวฟัน และหวั่นเกรงเสียงแกรกกรากที่ว่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง ปกติผมชอบกินน้ำพริกปลาทูสมัยเด็กๆอยู่ที่บ้านนครสวรรค์ วันไหนแม่ทำน้ำพริกปลาทูให้จะกินข้าวได้แบบจานพูนๆ

แต่แล้ววันหนึ่งขณะมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผมไปอยู่หอพักใกล้ๆสลัมที่ล้อมรอบด้วยห้องแถวที่มีการผลิตอาหารและเครื่องปรุงบางอย่าง เช่น กะปิ น้ำปลา อยู่ 2-3 ห้อง ซึ่งมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นโรงงานจัดเตรียม “กะปิ” ใส่กระปุกหรือไหเล็กๆเพื่อไปจำหน่ายต่อ

ผมเห็นวิธีการบรรจุและผสมกะปิของเขาแล้วก็เกิดภาพหลอนขึ้นมาทันที เพราะคนงานใช้มือดุ้นๆไม่สวมถุงพลาสติกอะไรเลย จะสะอาดหรือไม่สะอาดก็ไม่รู้ ทำให้ผมไม่กล้ารับประทานกะปิอยู่หลายปี

แล้วโรคนี้ก็มาเกิดแก่ผมตอนเรียนหนังสือจบใหม่ๆ เข้าทำงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ถูกส่งตัวไปกำกับดูแลการจัดทำสำมะโนประชากร ที่จังหวัดอุดรธานีอยู่กว่า 6 เดือน

ไปเห็นวิธีการเก็บตัวเลขเก็บข้อมูลจากพนักงานจัดเก็บ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าพนักงาน “แจงนับ” แล้วผมก็หลอนมาอีกหลายปี

เพราะเต็มไปด้วยการยกเมฆ...ไม่ได้ไปสำรวจ ไม่ได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเป้าหมายสักหน่อย แต่ก็เขียนคำตอบได้อย่างเป็นตุเป็นตะ

พวกผมซึ่งเป็น “ซุปเปอร์ไวเซอร์” ต้องตามล้างตามเช็ด...ซึ่งก็ล้างได้บ้างเช็ดไม่ได้บ้าง จำใจเซ็นรับรองผลการสำรวจเพราะไม่มีทางเลือก

ทำให้ผมกลายเป็นคน “หลอนตัวเลข” ของทางราชการมาโดยตลอด รวมทั้งเมื่อมาอยู่ สภาพัฒน์ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ตัวเลข GDP ของเพื่อนๆจากกองที่ทำหน้าที่จัดทำตัวเลข GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ...ก็จะใช้ด้วยความระมัดระวัง

แม้ผมจะเชื่อมือเพื่อนๆกองบัญชีประชาชาติ ที่มีหน้าที่ในการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ว่าได้ใช้ความพยายามดีแล้ว มีวิธีจัดเก็บและตรวจสอบที่ดีมาก...ในระยะหลังๆ แต่ผมก็จะบอกเพื่อนๆว่าขอโทษด้วยที่ผมยังไม่เชื่อเพื่อนสนิทนัก เพราะภาพฝังใจเก่าๆที่ตามหลอนอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

ทุกวันนี้ผมก็ยังกลัวๆอยู่ครับ ใครมาพูดเรื่องจีดีพีเพิ่มเท่านั้นนี้ หรือลดเท่านั้นเท่านี้ แม้ผมจะยอมรับและนำไปใช้เขียนหนังสือด้วย แต่ก็จะย้ำอยู่เสมอว่า อย่าเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอย่างไรเสียก็ยังมาจากการคิดการคำนวณ และการประมาณการอยู่ดี

ประเทศไทยของเรายังมีอะไรที่อยู่นอกเหนือจีดีพีอีกมากมายนัก

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผมมาได้ยินนักเศรษฐศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบันกล่าวในทำนองว่าการแจกเงินดิจิทัลหัวละ 10,000 บาทแก่คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนเท่านั้นเท่านี้ และจะเพิ่มจีดีพีเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ คุ้มค่ามาก สำหรับเงินแจกทั้งหมด 5.6 แสนล้านบาท ผมจึงอดเป็นห่วงเป็นใยเสียมิได้

ผมยังปักใจเชื่ออยู่ครับว่า “จีดีพี” เป็น “เรื่องสมมติ” หรือคำนวณขึ้น ต่อให้คำนวณใกล้เคียงแค่ไหน ก็ยังเป็นเรื่องสมมติอยู่นั่นเอง

แต่การกู้เงินไม่ว่าคุณจะกู้แบบไหนจะเป็นของจริงเสมอๆ แม้แต่กู้ออมสินตามที่มีข่าวแว่วๆ อย่างไรก็เป็นของจริง เท่ากับคุณเป็น “ลูกหนี้” จริงๆ และวันใดวันหนึ่งก็จะต้องใช้หนี้นั้นจริงๆ

สำหรับชาวบ้านหรือบุคคลทั่วไป เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ก็จะถูกยึดทรัพย์สิน ยึดอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนข้าวของต่างๆ ใครไม่มีให้ยึดก็ถูกฟ้องล้มละลาย หรือไม่ก็ต้องหนีหายหลบเข้ากลีบเมฆไป

ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน กู้เกินตัว กู้แล้วไม่มีปัญญาใช้หนี้...ก็จะต้องกลายเป็น “ประเทศล้มละลาย” แถมจะโชคร้ายกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป เพราะหนีไปไหนไม่ได้ ต้องทนรับกรรมอย่างที่ชาติล้มละลายหลายๆชาติแสดงให้เห็นมาแล้ว

ก็ขอฝากให้คิดลึกๆอีกสักครั้งในเรื่องของ “สิ่งสมมติ” กับเรื่องที่เป็น “ของจริง” ที่ผมหยิบยกมาเตือนสติในวันนี้

“สมมติ” น่ะผิดได้ แต่ “เรื่องจริง” ไม่มีวันผิด กู้เงินแล้วไม่มีใช้เขา ยังไงๆก็ล้มละลายวันยังค่ำ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็สุดแต่ท่านเถิด คนประสาทหลอนอย่างผมก็แค่เป็นจิ้งจกร้องทักไปเท่านั้นเอง.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ